บ้านเกิด: การกลับมาปลูกดอกไม้ของชายผู้มีความสุขกับทะเล

พุทธศักราช 2516,

บ้านเกิดในดวงตาของผู้จากจรไปยาวนานนับสิบปีไม่ได้เปลี่ยนไปมากอย่างที่คิด นอกจากบ้านเรือนที่ตั้งหนาแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน ‘ควน ป่า นา เล’ ยังตั้งอยู่และทำหน้าที่เดิมของมันในการหล่อเลี้ยงชีวิตคนแหลมสักเสมอมา

โต๊ะครูอับดุลมาลิกวัยหนุ่มผู้กลับมาพร้อมคำหน้านาม ‘ฮัจยี’ สำหรับผู้ก้าวฝ่าเปลวร้อนแห่งทะเลทรายผ่านพิธี ‘ฮัจย์’ ณ เมืองเมกกะมาแล้วเดินทางถึงบ้านเกิดและพักผ่อนร่างกายไม่กี่เพลาก็ครุ่นคิดถึงเส้นทางที่ผ่านมาและทางแห่งอนาคตต่อไป

“ชีวิตผมมาทางนี้ก็ต้องไปทางนี้” โต๊ะครูอับลิกย้อนห้วงความคำนึงขณะนั้น

เขาเริ่มปรับปรุงตัวบ้าน และเปิดสอนหนังสือเด็กๆ ที่บ้าน ให้เด็กๆ ในชุมชนมาเรียนกีต๊าบ สอนอัลกุรอ่าน โต๊ะครูอับดุลมาลิกบอกว่าตอนนั้นมีเด็กๆ มาเรียนเยอะ และต้องสอนอยู่นานหลายปี จึงตัดสินใจมาตั้งปอเนาะที่บ้านนา (ปัจจุบัน) ทำให้ชาวบ้านละแวกนี้เรียกกันติดปากว่าปอเนาะแหลมสัก เป็นปอเนาะแห่งแรกของตำบลแหลมสัก

เส้นทางสายผู้ให้ของโต๊ะครูอับดุลมาลิกในผืนแผ่นดินเกิดเริ่มต้นจริงๆ จังๆ หลังจากนั้น หากแต่เมื่อย้อนกลับไปสู่ความเป็นตัวตนที่พระเจ้าสร้างขึ้น –ในระดับพื้นเพรากเหง้า โต๊ะครูอับดุลมาลิกเล่าว่าตนเกิดที่บ้านใต้ หรือเรียกว่า ‘บ้านคลองทราย’ บิดาชื่อ ‘นายก้าสา เริงสมุทร’ มารดาชื่อ ‘นางห้ำ เริงสมุทร’ สกุลเดิม ‘หมันการ’ มารดาเป็นคนเกาะหมาก จ.พังงา ส่วนบิดาเป็นคนเกาะยาวน้อย จ.พังงาเหมือนกัน

“สมัยก่อนม๊ะมีคุณยายกับคุณตาแกเอาครอบครัวย้ายมาแหลมสัก ทำประมง สร้างสวน ส่วนป๊ะเป็นคนเกาะยาวน้อย แต่ที่เกาะยาวน้อยมีหมูป่าเยอะ ทำนาทำสวนไม่ได้ ต้องทำรั้วชิดๆ กัน ไม่งั้นหมูป่าเข้ามากินพืชผักหมด มีไร่มีนาก็ต้องทำรั้วหมด จริงๆ คนเกาะยาวหนีหมูมาตั้งรกรากที่กระบี่เยอะ ก็เลยย้ายจากเกาะยาวน้อยมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ป๊ะมาคนเดียว มาอยู่กับญาติ แต่ย่ายังอยู่เกาะยาวน้อยจนเกือบสิบปีจึงรับมาอยู่ด้วยกันที่นี่” โต๊ะครูอับดุลมาลิกย้อนเรื่องราวที่มาของตนเอง

โต๊ะครูอับดุลมาลิกบอกว่าตนมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คนแรกคือ นางบ้อเหรี้ย รูมิน(เสียชีวิตแล้ว) คนที่สองคือ นายย้าฝาด เริงสมุทร คนที่สามคือนายมี้เหร็น เริงสมุทร คนที่สี่คือตนเอง คนที่ห้าคือนางสาปี้น่า คนที่หกคือนางยาเหรี้ยย่า ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ซาอุดี้ เช่นเดียวกับคนที่เจ็ดคือนายมูฮำหมัด ที่อยู่ซาอุดี้เช่นกัน และคนที่แปดคือนายอิบหร่าน เริงสมุทร(เสียชีวิตแล้ว)

ผู้เฒ่าบอกอีกว่าตระกูลเริงสมุทรเป็นคนชายฝั่งทะเล มีพื้นเพรกรากอยู่แถวเกาะยาวมานานแล้ว แต่ตนไม่ทราบว่าใครตั้งนามสกุลนี้ มีความหมายอย่างงดงามว่า ‘มีความสุขกับทะเล’

“แต่บรรพบุรุษไม่รู้ใคร ไม่มีการบันทึกไว้ ของป๊ะก็รู้ว่าใครเป็นป๊ะ โต๊ะชาย(ปู่)ชื่อ ‘นายสัน เริงสมุทร’ ป๊ะของโต๊ะชาย(ทวด) ชื่อ ‘นายสิน เริงสมุทร’ ที่แหลมสักมีคนนามสกุลเริงสมุทรอยู่แต่ในเครือญาติผม นามสกุลอื่นๆ ก็มี นายาว,ตู้กังร่าเหม,เนื้ออ่อน, อีดเกิด, แก่เกิด, รูมิน, อันนี้มีเยอะในแหลมสัก แต่เริงสมุทรจะเยอะในเกาะยาว ส่วน ‘หมันการ’ นามสกุลแม่จะเยอะในแหลมสัก เพราะย้ายมาอยู่นานแล้ว ก่อนป๊ะเสียอีก”

ชายชรายังย้อนภาพให้ฟังว่าสภาพบ้านเมื่อตอนเด็กๆ นั้นเขาจำได้ว่าเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว เป็น ‘หลังคาโรงช้าง’ หมายถึงสูงเหมือนขังช้างไว้ข้างใน ส่วนมากหลังคาจะมุงจาก และเพิ่งมาเปลี่ยนมามุงกระเบื้องเมื่อ 20-30 ปีก่อนนี่เอง

“สมัยก่อนแหลมสักมีนาเยอะ คนทำกันมาก นอกจากนั้นก็ทำไร่ ทำประมง แต่ก่อนมีการลงนา ใครมีควายก็เอาควายมา ใครไม่มีควายก็เอาจอบมา เสร็จเจ้านี้ก็ไปเจ้านู้น มาทั้งหญิงทั้งชาย สมัยก่อน 30 ปีผ่านมาแล้ว ชุมชนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เอื้ออาทรกันมาก ผิดกับสมัยนี้ที่มีความเป็นสังคมเมืองเข้ามาเสียแล้ว ต่างคนต่างอยู่กันเยอะ ถ้าไม่ใช่ญาติพี่น้องตัวเองก็ไม่ใคร่ช่วยเหลือกัน สมัยก่อนใครมีอะไรก็ช่วยกัน ‘ลง’ เช่น ทำ ‘โม๊ะ’ หรือ ‘โป๊ะ’ก็มาช่วยกัน คนที่ได้กุ้งได้ปลาก็เอามาแจกกัน พาอวนไปทำกุ้ง ได้กุ้ง ได้ปลา ได้ปู ได้ของมากๆ เราเอาแต่กุ้ง อย่างอื่นเราแจก คนมาช่วยเหลือก็เอาไปเลย ไม่ต้องให้เจ้าของอนุญาต”

สิ่งที่โต๊ะครูอับดุลมาลิกกว่าถึงน่าสนใจ เพราะเป็นภาพอันแจ่มชัดของสังคมชนบทไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน การใช้ชีวิตในสังคมเกษตรกรรมที่ผืนแผ่นดินไร่นาและเรือกสวนไม่ได้บอกอาณาเขตด้วยหลักรั้วรอบขอบชิดดั่งทุกวันนี้ คนในชุมชนรู้ขนาดที่นาหรือไร่ของแต่ละคนด้วยแนวต้นไม้หรือเพียงคันนาเท่านั้น ไม่ได้แบ่งแยกโดดเดี่ยวซึ่งกันและกัน ปลูกผลไม้ก็สอยกินเอาได้โดยไม่มีการหวงแหน การลงแขกเกี่ยวข้าวหมายถึงการแบ่งปันจำนวนข้าวเปลือกให้อย่างเอื้ออาทรหลังฤดูเก็บเกี่ยว และวิธีคิดเช่นนี้ยังขยายไปสู่วิธีการทำมาหากินอื่นๆ ด้วย เช่น การหาปลาในท้องทะเลก็ยังเผื่อแผ่ให้ แม้ว่าไม่มีลักษณะของการลงแขกเหมือนทำไร่ไถนา แต่คนในชุมชนก็รู้ดีว่าการแสดงน้ำใจด้วยการแบ่งปันปลาให้เพื่อนบ้าน หมายถึงการตอบแทนอย่างไม่มีเงื่อนไขในโอกาสที่เขาต้องการความช่วยเรื่องอื่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยเหลือก็ไม่ได้คิดถึงผลตอบแทนในเบื้องต้น แต่มันแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตไปแล้ว

ไม่รู้ว่าสังคมสมัยใหม่ทำให้คนมั่นใจว่าตนเองอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อย่างไร จึงยอมปลดปล่อยวิถีดั้งเดิมของตน และถีบถ่างพื้นที่ของน้ำจิตน้ำใจกันให้ห่างออกไป

“ปัจจุบันความเจริญกำลังเข้ามา การท่องเที่ยวกำลังบูมเข้ามา นี่เขากำลังพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน ผลดีมันก็มี เราก็ต้องวางแผนจัดระบบให้ดี ถ้าการท่องเที่ยวเจริญจริงๆ เด็กในชุมชนจะเสียศีลธรรม โรงเหล้าโรงเบียร์เข้ามา แต่ถ้าจัดโซนไปเลย อันนั้นเห็นด้วย แต่เทศบาล ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนต้องมีบทบาท” โต๊ะครูอับดุลมาลิกเอ่ยถึงชุมชนแหลมสักปัจจุบัน ด้วยต่อเนื่องมาจากภาพอดีตที่หาแทบไม่ได้ในชุมชนทุกวันนี้

“เราไม่ได้ปิดกั้น เพราะมันมีรายได้เลี้ยงปากท้องคน มีรายได้หล่อเลี้ยงชุมชน แต่ขอให้จัดระบบรองรับ แบ่งโซนให้ชัด ตรงไหนเป็นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ตรงไหนเป็นแหล่งสถานบันเทิง โรงเหล้าโรงเบียร์และคุมไม่ให้เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว อันนั้นต้องเอาให้ชัด มันจะได้ไม่ทำร้ายวิถีชุมชนแล้วก็ศีลธรรมของคนที่นี่” น้ำเสียงของความเอื้ออาทรและห่วงใยแจ่มชัด

จากเรื่องราวของรากเหง้าเทือกเถาเหล่ากอสู่ปัจจุบัน เราก็ย้อนกลับไปสู่เรื่องราวของการก่อเกิดปอเนาะบ้านนา หรือ ‘ปอเนาะแหลมสัก’

“สอนเด็กได้พักหนึ่งก็มาตั้งปอเนาะที่นี่ เดินขึ้นจากบ้านมาโลกว่าๆ สมัยนั้นเป็นป่ารกทึบเลยนะ เป็นสวน เป็นป่า ต้องบุกป่าหญ้าคาเข้ามา ตรงนี้เป็นที่ดินเก่าแก่ของครอบครัว เราคิดว่ามันน่าจะสร้างประโยชน์อะไรให้สังคมได้”

ฟังดูเหมือนเป็นสูตรสำเร็จของผู้ไปใช้ชีวิตและร่ำเรียนมาจากตะวันออกกลางที่จะกลับมาเพื่อสร้างปอเนาะเป็นของตน ส่วนใหญ่มักจะคิดและลงมือทำ หรือหากขาดแคลนทุนทรัพย์ในการลงมือสร้างก็ดำรงตนเป็นผู้สอนในปอเนาะต่างๆ ไปก่อน เป็น ‘อุซตาส’ ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางศาสนาให้กับนักเรียน จนกว่าจะมีเงินมีที่ดินจึงเริ่มลงมือตั้งปอเนาะที่ตนเองเป็นเจ้าของ

อธิบายกันให้ชัด, ในวิถีของมุสลิม การตั้งปอเนาะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการคิดถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ ยิ่งในปอเนาะยุคเก่าสิ่งเหล่านี้ไม่แจ่มชัดเท่ากับความเสียสละ การได้ลงมือสั่งสอนหรือเผยแพร่สิ่งที่รู้ คือวิถีของการ ‘ดะวะห์’ ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางสวรรค์ เป็นบุญเป็นกุศลที่จะสั่งสมก่อนไปสู่โลก ‘อาคีเราะ’

จึงไม่ใช่สูตรสำเร็จในนิยามของความทะเยอทะยานอยาก แต่เป็นแนวทางของผู้รู้ที่ต้องมอบความรู้แก่ผู้ไม่รู้ หากมีโอกาสหรือทุนทรัพย์ดำเนินการก็จะลงมือทำ นี่จึงเป็นหน้าที่ของมุสลิม

“ตอนนั้นที่นี่เป็นป่า ลูกสองคน ปรีชากับวิทยา เดินตามหลัง ผมอุ้มลูกคนที่สามคือกัลยาเดินนำหน้า  วิทยาเขาชอบเดินไปจับตั๊กแตนกับแมงบี้(แมงปอ)ไป ทำให้เดินช้า ปรีชาวิ่งตามหลังมาบอกว่า “ป๊ะๆ หยุดก่อน น้องกำลังจับตั๊กแตนอยู่โน่น” โต๊ะครูอับดุลมาลิกหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเมื่อคิดถึงภาพอดีต

ชายชราในวัยหนุ่มวันนั้นเริ่มลงมือสร้างบ้าน(หลังที่อยู่ปัจจุบัน) แม้จะมีการลงแรงของญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง แต่สิ่งที่ทำให้โต๊ะครูอับดุลมาลิกภาคภูมิใจคือการลงมือทำด้วยตัวเอง ไม้ทุกต้น ตะปูเกือบทุกตัวผ่านมือของแกมาหมดแล้ว

“บ้านหลังนี้” ผู้เฒ่าชี้ขึ้นเหนือศรีษะ “ลูกๆ ทุกคนช่วยกันเหลาไม้ ลงกบไม้ มีเพื่อนมาช่วยด้วย ไม่ต้องจ้างใคร” เขาหัวเราะร่วนอย่างอารมณ์ดี

เริ่มต้นสร้างปอเนาะเมื่อพุทธศักราช 2519 แล้วสอนอยู่ 14-15 ปี จนปี 2534 โต๊ะครูอับดุลมาลิกเริ่มรู้สึกว่าร่างกายของตนไม่ไหว เมื่อความมุ่งมั่นผจญอุปสรรคทางร่างกายก็จำต้องหยุดระบบปอเนาะไปอย่างน่าเสียดาย เด็กนักเรียนเก่าถูกส่งไปร่ำเรียนที่ปัตตานีและยะลา เขาบอกในตอนหนึ่งว่า “ตอนนั้นบอกเด็กๆ ว่าบาบอไม่ไหวแล้วนะ ร่างกายมันไม่ไหว เราก็รู้ว่าทำให้ผลประโยชน์ของชุมชนสูญเสียไป”

การก่อเกิดของอุปสรรคทางร่างกายทำให้ชายชราผันมาสอนและให้ความรู้ประจำสัปดาห์แทน กระทั่งผ่านไปเกือบยี่สิบปีจึงมีความคิดของการก่อตั้งเป็นโรงเรียน 2 ระบบขึ้นมา

“ผมมีทรัพย์สมบัติอยู่บ้าง แบ่งให้ลูกๆ คนละเล็กละน้อย แต่ก็เกิดคำถามในใจว่า แล้วผมจะได้อะไร คนในแหลมสักเขาจะได้อะไรบ้าง ผมมีที่นิดหน่อยตรงนี้ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ชุมชนได้ เลยคิดจดทะเบียนเป็นมูลนิธิขึ้นมาสองไร่ และดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา แต่มันยังไม่จบหรอก ยังมีภาระให้อีกมาก ผมไม่ไหวก็เป็นหน้าที่ของลูกๆ ต่อไป”

ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า สักวันหนึ่งจะกลับคืนลงสู่ดิน ชีวิตจะเดินทางจากโลกดุนยาสู่อาคีเราะ ชายชรารู้ซึ้งกฎเกณฑ์ข้อนี้ดี จึงไม่ประมาทกับชีวิต และเพียรลงมือสร้างทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้ในระหว่างบรรทัดที่มนุษย์จักถูกพรากด้วยความตาย แต่เขายังมีลูกๆ สืบทอดและรับไม้ต่อไป

ด้วยปณิธานเดิม, การเสียสละในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า

อย่างน้อยที่สุดชายชราผู้มีความสุขกับทะเลผู้นี้ก็มีส่วนปลูกดอกไม้งามในบ้านเกิดของตนเอง ด้วยความเชื่อมั่นว่ามันจะเบ่งบานต่อไปเรื่อยๆ .

Advertisement

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s