ประสบการณ์พัฒนาระดับโลกสู่บ้านเกิด  เส้นทางชีวิต ‘ซากีย์ เริงสมุทร์’

คอลัมน์- คนเด่นกระแสใต้ โดย หลานนายหนัง

คนเด่นกระแสใต้ฉบับนี้ พบกับหนุ่มมุสลิมกระบี่ที่มีประวัติและเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ และน่าภาคภูมิในฐานะของเด็กหนุ่มจากหมู่บ้านริมทะเลที่ไปเติบใหญ่ทั้งชีวิตและหน้าที่การงานผ่านองค์กรระดับโลก ก่อนจะกลับสู่บ้านเกิดเพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาพัฒนาและสร้างรากฐานทางปัญญาให้กับชุมชน

ผมรู้จักกับบัง ‘ซากีย์’ หนุ่มมุสลิมชาวกระบี่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน เพราะเขาเป็นมุสลิมที่ทำงานกับมุสลิมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คุยไปคุยมาพบว่ามาจากกระบี่เช่นเดียวกัน และมีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ ทั้งการเป็นครู นักข่าวที่เคยไปเยือนแดนสงครามอย่างอัฟกานิสถานและูอิรักมาแล้ว รวมทั้งการผ่านองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อนที่เขาจะลาออกด้วยการให้เหตุผลว่าจะกลับไปเป็นครู และพัฒนาบ้านเกิด โดยเฉพาะแหลมสัก เป็นชุมชนชายทะเลที่สวยงามมากและเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เริ่มมีความเจริญที่ผิดทิศผิดทางเข้าไปมากขึ้น  ซึ่งเมื่อได้คุยกับซากีย์เขาจึงเปิดใจให้ฟังถึงประวัติและเส้นทางชีวิตให้ฟังว่า

“ผมชื่อ‘ปรีชา เริงสมุทร์’ ชื่อมุสลิมคือ ‘ซากีย์’ ผมเป็นลูกของโต๊ะครูอับดุลมาลิก เริงสมุทร์ ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาของปอเนาะแหลมสัก หรือชื่อภาษาอาหรับว่า มิสบาหุสดีน (ประทีปธรรม) เกิดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2520 จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านแหลมสัก จบชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนอ่าวลึกประชาสรรค์ จบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนอ่ำมาตย์พานิชนุกูล เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2545 เคยศึกษาแผนหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ หลักสูตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2546-48 ปัจจุบันกำลังศึกษาหลักสูตรมหาบัณฑิตบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

“ส่วนความรู้ทางศาสนา เรียนจบฟัรดูอีน ระดับซานาวี แต่ความรู้ศาสนาส่วนใหญ่ที่ได้รับมาจากการทำกิจกรรมชมรมมุสลิมในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษากับประเด็นทางศาสนาอิสลาม เช่น กรณีการบิดเบือนข่าวสารจากเหตุการณ์ 9/11 การเข้าร่วมกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ทำงานในศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ยมท. งานในศูนย์ข้อมูลข่าวสารจะทำเกี่ยวกับการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของความจริงจากโลกมุสลิม ซึ่งไม่ได้พึ่งพิงจากสื่อหลักจากโลกตะวันตก ในขณะนั้นวารสารที่ออกเป็นประจำ ชื่อว่า “โต้สำนักข่าวตะวันตก”

“ผมยังได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมการเป็นวิทยากรกระบวนการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในช่วงที่เป็นนักศึกษา และสนใจที่จะนำเสนองานสิทธิมนุษยชนตามหลักคำสอนของอิสลามมากขึ้น”

“เริ่มงานครั้งแรกกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กับศูนย์ข้อมูลข่าวสารโลกมุสลิม ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่อเมริกาถล่มอัฟกานิสถานไปแล้ว ความเสียหายถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอภิปรายอย่างต่อเนื่องเกือบทุกอาทิตย์ ทางสมาคมฯ มีการรณรงค์บริจาคเงินเพื่อไปช่วยเหลือพี่น้องในอัฟกานิสถาน หลังจากการระดมทุน ทางสมาคมฯได้ร่วมมือกับองค์กร Global Peace Mission มาเลเซีย และ Islamic Relief Agency ของซูดาน ในการทำงานช่วยเหลือพี่น้องชาวอัฟกันในค่ายผู้อพยพและในดินแดนทุรกันดาร ทางสมาคมต้องการส่งคนไปเรียนรู้การทำงานในด้านนี้ เพื่อหวังว่าในอนาคต งานทางด้านนี้จะมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานเพิ่มขึ้น ผมจึงอาสาที่จะไปเรียนรู้งานดังกล่าว ซึ่งเนื้องานที่ปฏิบัติในอัฟกัน มีการแจกข้าวสารอาหารแห้งในค่ายผู้อพยพ มีการสร้างคลีนิคในค่ายผู้อพยพในพื้นที่ชนบท และในคุก สนับสนุนช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ที่ห่างไกล

“หลังจากการเรียนรู้ในอัฟกัน มีความตั้งใจที่จะทำงานในลักษณะนี้อีก แต่พบว่ามีองค์กรมุสลิมที่ทำเกี่ยวกับด้านนี้น้อยมาก จึงผันตัวเองเป็นนักข่าว เน้นข่าวต่างประเทศ ข่าวโลกมุสลิม และได้มีโอกาสร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ทางนำ เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศอยู่ 2 ฉบับ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซ็น ทำประชามติในประเทศอิรักว่าประชาชนต้องการตนเป็นผู้นำต่อไปหรือไม่ ทางอิรักจึงเชิญนักข่าวทั่วโลกมาร่วมติดตามการทำประชามติ ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสเข้าร่วมการติดตามข่าวครั้งนี้ เมื่อกลับมาไม่ถึง 1 เดือน อเมริกาก็ถล่มอิรักไปเสียแล้ว ช่วงนั้นผมได้ติดตามและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอิรักอย่างต่อเนื่อง แต่ชีวิตนักหนังสือพิมพ์มันเลี้ยงตัวไม่รอด จึงผันตัวเอง (อีกแล้ว) ไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอิสลามสันติชน ทางโรงเรียนเห็นว่ามีประสบการณ์ในต่างประเทศมาก จึงแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ

“ในขณะเดียวกัน ช่วงที่เป็นครู เพื่อนๆที่เคยเป็นนักกิจกรรมร่วมกัน ได้คุยกันว่า เราต้องสร้างหนังสือพิมพ์ใหม่สักฉบับที่ไม่เน้นว่าจะขายได้หรือไม่ได้ แต่คนจะต้องได้อ่าน คิดและถกเถียงกันจนตกผลึก จึงมาทำหนังสือพิมพ์แจกฟรีที่ชื่อว่า “กัมปง” โดยรับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการคนแรกของหนังสือพิมพ์เล่มนี้

“รับหน้าที่กลางวันเป็นครู กลางคืนเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ได้ประมาณ 3 ปี โครงการที่ชื่อว่า ศูนย์ช่วยเหลือสิทธิและกฎหมายแก่ผู้ประสบภัยสีนามิ ของมูลนิธิเอเชีย(The Asia Foundation) ซึ่งสนับสนุนจากธนาคารโลกกำลังจะเปิดที่จังหวัดกระบี่ หัวใจของการเป็น NGO ก็เรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นครู และมาสมัครทำงานนี้ ปรากฏว่าเขารับ และให้มาเป็นผู้ประสานงานโครงการ โดยเนื้องานจะเกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมความรู้เบื้องต้นด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การให้ความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้น การประสานงานระหว่างทนายความและผู้ประสบภัยในประเด็นสิทธิที่ไม่ได้รับ

“อยู่มาประมาณ 2 ปี โครงการนี้ก็ได้ปิดตัวลง มูลนิธิเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ และถามว่า สนใจจะไปทำงานด้านการเข้าถึงความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไหม? ผมตอบตกลงโดยไม่ลังเล และทำงานโดยประสานงานหลักกับทางศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นประเด็นของการสร้างอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ นักสิทธิมนุษยชน และการจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ การทำข้อมูลพื้นฐานขององค์กร นอกจากนี้ก็ได้ทำในประเด็นของการพยายามผลักดันให้สื่อของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สามารถปฏิบัติงานได้จริง รวมถึงการให้ความรู้ทางการเมืองแก่เยาวชน

“ปัจจุบัน ก็ลาออกมาเป็นผู้จัดการโรงเรียนประทีปธรรมมูลนิธิ เมื่อมีโอกาสได้เป็นผู้บริหารโรงเรียน จึงมีโอกาสในการสร้างความแตกต่างจากการเรียนแบบเดิมๆ มาเป็นโรงเรียนแนวคิดใหม่ มุ่งหวังให้เยาวชนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง ได้มีโอกาสสร้างทีมนักข่าวเด็กที่ชื่อว่า Tham TV สร้างทีมละครเร่ข้างสุเหร่า สร้างโรงเรียนที่เตรียมพัฒนาการเด็กโดยจินตคณิต สอนภาษาหลากหลายจากเจ้าของภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ อาหรับ จีน มลายู หลังจากทำงานมาระยะหนึ่ง ชาวบ้านเห็นถึงศักยภาพ จึงมีกลุ่มผู้ผลักดันให้ลงสมัครนายกเทศมนตรีตำบลแหลมสัก ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

“จริงๆแล้วไม่ได้ตั้งใจจะกลับมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน แต่ในการประชุมศิษย์เก่าของปอเนาะแหลมสักในอดีต บาบาหรือโต๊ะครูอับดุลมาลิก ซึ่งเป็นพ่อของผมพูดว่า โรงเรียนที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นโรงเรียนของทุกคน เป็นโรงเรียนของชุมชน เป็นโรงเรียนที่ต้องการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อเยาวชนที่รักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมและเท่าทันในการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อได้ยินคำนี้ จึงตัดสินใจว่าจะกลับมาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่ โดยการสร้างโรงเรียนแนวคิดใหม่ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

“แหลมสักในอดีต เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายและลงตัว มีทั้งชุมชนไทยพุทธ ไทยเชื้อสายจีน และคนมุสลิม อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชนเมื่อกว่าร้อยปีก่อน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเชื้อชาติก็เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ยังจำได้ว่า ในอดีตเวลาคนไทยเชื้อสายจีนอยากจะทำบุญ ก็จะเชิญบาบาไปขอดุอาร์ให้ หรือบางครั้งเวลามัสยิดมีงาน พี่น้องชาวพุทธ คนจีน ก็มาร่วมออกแรงกายและแรงทรัพย์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ปัจจุบันดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ขาดหายไปบ้าง จึงอยากเห็นความร่วมมือร่วมใจให้กลับมาอีกครั้ง แต่ที่สำคัญ ชุมชนแหลมสักเป็นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่คนที่อาศัยอยู่กลับมีชีวิตในแต่ละวันด้วยความยากลำบาก ความตั้งใจจริงคืออยากเห็นพี่น้องในชุมชนมีงาน มีอาชีพที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดี เห็นคนรุ่นใหม่ที่เชิดชูในอัตลักษณ์ของตน แต่มีความคิดก้าวหน้า และสื่อสารกับผู้คน สามารถทำธุรกิจกับคนเหล่านั้นได้

“ในประเด็นการท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน เราได้มีการรับมือจากการท่องเที่ยวกระแสหลักที่จะมาเบียดเบียนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของคนในชุมชน ด้วยการรวมกลุ่มกันก่อตั้งชุมชนท่องเที่ยวแหลมสักขึ้น โดยผมเห็นด้วยว่าการท่องเที่ยว ควรจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงรับผิดชอบ กล่าวคือ นักท่องเที่ยวและคนในชุมชน จะต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นคนกำหนดและได้รับผลประโยชน์ มิใช่นายทุนใหญ่เป็นคนกำหนด”

จากการพูดคุยกัน ผมรู้สึกว่าซากีย์นับเป็นบุคคลคุณภาพคนหนึ่ง ทั้งในฐานะของชาวมุสลิม ชาวแหลมสัก หรือของชาวจังหวัดกระบี่ ในยุคที่เราก็เห็นๆ กันว่า คนที่มีคุณภาพจริงๆ นั้นหาได้ยากยิ่ง.

Advertisement

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s