จากวารสาร Halal Life Vol. 3 หน้า 17
ครั้งแรกกับการเริ่มงานหลังพ้นวัยนักศึกษาจากรั้วเกษตรศาสตร์ของซากี เริงสมุทร์ ชายหนุ่มจากดินแดนชายฝั่งอันดามัน คือการทำงานให้กับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยในส่วนของศูนย์ข่าวสารโลกมุสลิม ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของความจริงจากโลกมุสลิมที่ไม่ได้พึ่งพิงสื่อหลักจากโลกตะวันตก ออกวารสารชื่อว่า “โต้สำนักข่าวตะวันตก” และยังได้มีโอกาสเดินทางไป ทำงานอาสาช่วยเหลือพี่น้องในค่ายผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน
“ผมเริ่มงานครั้งแรกกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กับศูนย์ข้อมูลข่าวสารโลกมุสลิม ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่อเมริกาถล่มอัฟกานิสถานไปแล้ว ความเสียหายถูก หยิบยกมาเป็น ประเด็น อภิปรายอย่างต่อเนื่องเกือบทุกอาทิตย์ ทางสมาคมฯ มีการรณรงค์บริจาคเงินเพื่อไปช่วยเหลือพี่น้องในอัฟกานิสถาน หลังจากการระดมทุน ทางสมาคมฯได้ร่วมมือกับองค์กร Global Peace Mission มาเลเซีย และ Islamic Relief Agency ของซูดาน ในการทำงานช่วยเหลือพี่น้องชาวอัฟกันในค่ายผู้อพยพและในดินแดนทุรกันดาร ทางสมาคมต้องการส่งคนไปเรียนรู้การทำงานในด้านนี้ เพื่อหวังว่าในอนาคต งานทางด้านนี้จะมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานเพิ่มขึ้น ผมจึงอาสาที่จะไปเรียนรู้งานดังกล่าว”
หลังจากนั้น “ซากี” เข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ให้หนังสือพิมพ์ทางนำ หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมมุสลิมมาอย่างยาวนาน ที่นี่ “ซากี” ได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง นั่นคือการเดินทางไปยังประเทศอิรัก ก่อนจะโดนอเมริกาถล่มเพียงแค่ไม่กี่วัน “หลังจากการเรียนรู้ในอัฟกัน มีความตั้งใจที่จะทำงานในลักษณะนี้อีก แต่พบว่ามีองค์กรมุสลิมที่ทำงานด้านนี้น้อยมาก จึงผันตัวเองเป็นนักข่าว เน้นข่าวต่างประเทศ ข่าวโลกมุสลิม และได้มีโอกาสร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ทางนำ เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศอยู่ 2 ฉบับ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซ็น ทำประชามติในประเทศอิรักว่าประชาชนต้องการตนเป็นผู้นำต่อไปหรือไม่ ทางอิรักจึงเชิญนักข่าวทั่วโลกมาร่วมติดตามการทำประชามติ ก็เลยได้มีโอกาสเข้าร่วม พอกลับมาได้ไม่ถึงเดือน อเมริกาก็ถล่มอิรักไปเสียแล้ว”
หลังกลับจากอิรัก “ซากี” ผันตัวเองไปเป็นอาจารย์โรงเรียนอิสลามสันติชนในฐานะหัวหน้ากล่มุ วิชาภาษาต่างประเทศ “ช่วงนั้นผมได้ติดตามและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอิรักอย่างต่อเนื่อง แต่ชีวิตนักหนังสือพิมพ์มันเลี้ยงตัวไม่รอด จึงผันตัวเองไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอิสลามสันติชน ทางโรงเรียนเห็นว่ามีประสบการณ์ในต่างประเทศมาก จึงแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ”
ปี 2546 ชื่อของซากี เริงสมุทร์ ถูกจารึกในฐานะบรรณาธิการคนแรกของหนังสือพิมพ์กัมปง หนังสือพิมพ์ที่สร้างตำนานให้กับวงการสื่อสารมวลชนมุสลิม ซึ่งปัจจุบันได้ปิดตัวลงไปด้วยเหตุผลบางประการ “ในขณะที่เป็นครู เพื่อนๆ ที่เคยเป็นนักกิจกรรมร่วมกัน ได้คุยกันว่า เราต้องสร้างหนังสือพิมพ์ใหม่สักฉบับที่ไม่เน้นว่าจะขายได้หรือไม่ได้ แต่คนจะต้องได้อ่าน คิดและถกเถียงกันจนตกผลึก จึงมาทำหนังสือพิมพ์แจกฟรี ที่ชื่อว่า “กัมปง” โดยรับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการคนแรกของหนังสือพิมพ์เล่มนี้”
หลังรับหน้าที่กลางวันเป็นครู กลางคืนเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ได้ประมาณ 3 ปี ซากีตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู ผันตัวเองมาทำงานภาคประชาสังคมให้กับมูลนิธิเอเชีย(The Asia Foundation) ในฐานะผู้ประสานงานโครงการศูนย์ช่วยเหลือสิทธิและกฎหมายแก่ผู้ประสบภัยสีนามิ หลังจากมุ่งมั่นกับงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิอยู่สองปี เขาได้ถูกทาบทามให้ลงทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะผู้ประสานงานหลักกับ
ทางศูนย์ทนายความมุสลิม
ปัจจุบัน ซากี ตัดสินใจอีกครั้ง คราวนี้เขาหันหลังกลับบ้านเกิด มุ่งหวังที่จะนำประสบการณ์ที่สั่งสมนับสิบปีมาพัฒนาภูมิลำเนาของตนเอง เขากลับมารับหน้าที่ผู้จัดการโรงเรียนประทีปธรรมมูลนิธิ สร้างความแตกต่างจากการเรียนแบบเดิมๆ มาเป็นโรงเรียนแนวคิดใหม่ มุ่งหวังให้เยาวชนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำพูดของผู้เป็นพ่อที่ว่า “โรงเรียนที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นโรงเรียนของทุกคน เป็นโรงเรียนของชุมชน เป็นโรงเรียนที่ต้องการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อให้เยาวชนได้รักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมและเท่าทันในการเปลี่ยนแปลงของโลก” เมื่อได้ยินคำนี้จึงตัดสินใจว่าจะกลับมาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่
ปัจจุบันอีกยิ่งกว่า ซากี เริงสมุทร์ ตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง เขาลงเล่นการเมืองในระดับท้องถิ่นด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลแหลมสัก ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาไม่ได้อยากเป็นนักการเมืองแต่อยากพัฒนาบ้านเกิดโดยใช้กลไกของรัฐ “เมื่อมีโอกาสได้เป็นผู้บริหารโรงเรียน จึงมีโอกาสในการสร้างความแตกต่างจากการเรียนแบบเดิมๆ มาเป็นโรงเรียนแนวคิดใหม่ มุ่งหวังให้เยาวชนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง ได้มีโอกาสสร้างทีมนักข่าวเด็กชื่อว่า Tham TV สร้างทีมละครเร่ข้างสุเหร่า สร้างโรงเรียนที่เตรียมพัฒนาการเด็กโดยจินตคณิต สอนภาษาหลากหลายจากเจ้าของ
ภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ อาหรับ จีน มลายู หลังจากทำงานมาระยะหนึ่ง ชาวบ้านเห็นถึงศักยภาพ จึงมีกลุ่มผู้ผลักดันให้ลงสมัครนายกเทศมนตรีตำบลแหลมสัก” ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงเรื่องราวฉบับย่อของชายที่มีนามว่า ปรีชา หรือ ซากี เริงสมุทร์ กับประสบการณ์อันหลากหลายที่เขาได้ผ่านพ้นมาในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสิบปี
หากใครที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ แล้วมีความรู้สึกเดียวกัน เราคงมีความคิดเหมือนกันว่า สิ่งใดกันที่ทำให้ชายชื่อ ซากี เริงสมุทร์ เลือกที่จะทำงานเพื่อจรรโลงสังคมได้มากถึงเพียงนี้ นั่นสิ ทำไม ???
สังคมเปลี่ยนแปลงได้ … ถ้าเราช่วยกัน เราอาจเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต่างกัน แต่เชื่อเถอะว่า เรามีเป้าหมายเดียวกัน แต่อาจต่างกันที่วิธีการก็เท่านั้นเอง …. จังหวะก้าวที่ท้าทายของ ซากี เริงสมุทร์