ฟาฏินา วงศ์เลขา
ที่มา : เดลินิวส์
คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าสภาพสังคมไทยในทุกวันนี้กำลังเกิดวิกฤติ และส่งผลให้คนไทยเกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคี มีความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มคนอย่างรุนแรง อีกทั้งสื่อและกระแสทางสังคมได้มีอิทธิพลในการชักนำให้ผู้คนเชื่อและคล้อยตามโดยขาดการใช้สติคิดใคร่ครวญไตร่ตรองถึงเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษาที่แตกต่าง และความก้าวไกลของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนผลักดันหนุนนำให้วิกฤติของสังคมไทยทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
เมื่อกล่าวถึงวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายมักจะเสนอให้ย้อนกลับไปทบทวนกระบวนการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต เพราะเชื่อว่าการจัดการศึกษาจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในปลูกฝังกระบวนการคิดพัฒนาจิตใจของคนรุ่นใหม่ให้มีแนวคิดและแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกทิศทาง ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคนให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขในสังคม
“การที่ประเทศไทยจัดระบบการศึกษาตามประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วคิดว่าการสร้างคนเก่งขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่โรงเรียนก็สอนคนให้เก่งที่สุด เพื่อสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยก็คัดเลือกเฉพาะคนเก่งที่สุด มีคะแนนสูงสุดเข้ามาในระบบ ซึ่งระบบการแข่งขันเอาชนะกัน สร้างคนเก่งขึ้นมากลับกลายเป็นการสร้างปัญหาหลายอย่างตามมา ขณะที่ผู้บริหารสูงสุดในระบบการศึกษาก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาอยู่ได้ไม่นาน แต่ละคนมีนโยบายแตกต่างกัน จนสร้างความสับสนในระบบการศึกษา” เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นข้อคิดมุมมองน่าสนใจที่ควรหยิบยกมาพิจารณาเพื่อจัดระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการสร้างคนดีมีคุณธรรมสนองตอบความต้องการของสังคม
หลักสูตรการศึกษาของทุกยุคทุกสมัยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้คู่คุณธรรมตามความคาดหวังของสังคม ซึ่งหลักสูตรปัจจุบันคือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดจุดหมายสำคัญประการแรกคือ พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าในตนเอง มีวินัย และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ และกำหนดให้เรียนสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะต้องจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาให้กับผู้เรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม
อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้ทุกคนศึกษาหาความรู้ทุกด้านตลอดเวลา โดยไม่ได้แยกออกจากกันระหว่างความรู้ทางโลกและทางธรรม แต่ต้องศึกษาหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างสมดุลและต่อเนื่อง ดังมีคำกล่าวที่มักได้ยินเสมอว่า “การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องเป็นทั้งผู้แสวงความรู้และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ตลอดชีวิต”
การจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาจึงมุ่งเน้นคุณภาพของผู้เรียนให้มีความรู้ ประสบการณ์ การปฏิบัติ และทักษะเกี่ยวกับจริยธรรม คุณธรรม ที่ว่าด้วยหลักการศรัทธา หลักปฏิบัติ และหลักคุณธรรมตามคำสอนของศาสนาอิสลาม มีเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถประมวลความรู้ แนวคิด และปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอน เพื่อปลูกฝังให้เป็นคนดี มีศรัทธา มีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข
ปัจจุบันมีสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้อิสลามศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนไม่น้อย ดังนั้นเพื่อความเป็นเอกภาพ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยกำหนดให้จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา 80 ชั่วโมง/ปี/ห้องเรียน หรือ 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยจัดเป็นรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติม
ในส่วนของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ก็ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม โดยเฉพาะการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชนท้องถิ่น จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการติดตามอิสลามศึกษาและการศึกษาในวิถีอิสลาม เพื่อศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการศึกษา การติดตามการดำเนินการ นโยบาย แนวทางและกระบวนการในการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในสถานศึกษา
คณะอนุกรรมาธิการฯ ดังกล่าวได้กำหนดเดินทางศึกษาดูงานในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปพื้นที่จังหวัดสงขลาและสตูล โดยแต่ละพื้นที่มีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่ามหรือผู้นำทางศาสนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอนหรือวิทยากรอิสลามศึกษามาร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
“เราได้รับทราบว่าหลายพื้นที่มีปัญหาการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา จึงได้กำหนดลงพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อรวบรวมสภาพปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข ทั้งในเรื่องหลักสูตร เวลาเรียน ค่าตอบแทน การส่งเสริมสนับสนุน การมีส่วนร่วมของชุมชน และหลังจากรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้วก็จะรายงานต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เพื่อให้พิจารณานำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป” คำกล่าวตอนหนึ่งของ นายสุริยา ปันจอร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามอิสลามศึกษาและการศึกษาในวิถีอิสลาม
การจัดการศึกษาในโลกยุคปัจจุบัน คงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมกันสร้าง สาน เสริม เติมเต็มเพื่อสร้างคนให้มีความรู้ เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและสร้างประโยชน์ต่อสังคม ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “นอกจากการศึกษาจะสอนให้คนเก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะอบรมให้ดีไปพร้อมกับไปด้วย ประเทศไทยเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพ คือทั้งเก่ง ทั้งดี มาเป็นกำลังของบ้านเมืองให้เป็นความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับสร้างสรรค์ และให้ความดีเป็นปัจจัยเพื่อประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูกอำนวยผล เป็นประโยชน์อันพึงประสงค์”.