โดย ปรีชา เริงสมุทร์

สมาชิกต้นแบบโทรทัศน์ครู

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เจ้าหน้าที่โครงการโทรทัศน์ได้มีอีเมล์แจ้งสมาชิกโรงเรียนต้นแบบว่า “เนื่องด้วยทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารโครงการโทรทัศน์ครูได้สิ้นสุดโครงการ โทรทัศน์ครู โดยจะออกอากาศช่องโทรทัศน์ครูในช่องระบบ KU – BAND ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 และ ระบบC –BAND ถึงวันที่ 30 กันยายน2555” ซึ่งหมายถึงโทรทัศน์ครูกำลังจะปิดตัวไป เหลือแค่ความทรงจำว่า ครั้งนึงประเทศไทยเคยให้ความสำคัญกับคนที่มีอาชีพครู โดยมีช่องโทรทัศน์ครู อันเป็นสถานีที่สองของโลกหลังจากประเทศอังกฤษ ก่อนประเทศอเมริกาจะมีช่องโทรทัศน์ครูเสียอีก แต่ประเทศไทยมีได้ในระยะเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

ก่อร่างสร้างตัวโทรทัศน์ครู

โทรทัศน์ครู ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๒ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างให้ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยงานดำเนินงาน โครงการโทรทัศน์ครู อย่างเป็นทางการ โดยมี รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร เป็นหัวหน้าโครงการ ผู้ซึ่งมุ่งมั่นพัฒนาวิชาชีพครู (Teacher Professional Development) โดยใช้กระบวนการสื่อมวลชนมาช่วย ท่านได้เกริ่นไว้ในบล้อกของท่านไว้ว่า “ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาวิชาชีพครูมีวิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยม คือ การฝึกอบรม (Training) ซึ่งเป็นวิธีการที่จัดการง่าย เร็ว เป็นระบบ แต่มีจุดอ่อนตรงที่ว่า เป็นวิธีการที่สะดวกสำหรับฝ่ายผู้จัดการ แต่ลำบากฝ่ายผู้รับการพัฒนา ประกอบกับวิธีการเรียนรู้แบบฝึกอบรมมักจะเป็นการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ หากผู้เข้ารับการอบรมขาดแรงจูงใจ มาฝึกอบรมตามใบสั่ง ก็จะยิ่งทำให้เกิดการสูญเปล่ามากยิ่งขึ้น วิธีการพัฒนาวิชาชีพครู ที่เป็นวิธีการที่นิยมกันมากในหลายประเทศ คือ การเข้าสังเกตการจัดการเรียนการสอนของครูที่เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติที่ดี (Good practice) ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ผู้ที่เป็นผู้สังเกต ได้เห็นทั้งหลักการที่เป็นเสมือนศาสตร์ และได้เห็นศิลปะของการนำหลักการไปใช้อย่างเป็นนรูปธรรม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ (Inspiration) ในการที่จะนำแบบอย่างที่ดีนั้นไปลองปฏิบัติด้วยตนเองดูบ้าง”
โทรทัศน์ครู คือ อย่างไร ?

รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกรได้เขียนบล้อก http://www.thaiteacherstv.net บอกเล่าโครงการนี้ว่า

“รายการโทรทัศน์ครู เป็นสื่อมวลชนที่นำหลักการสังเกตการจัดการเรียนการสอน การบริหาร การแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางการศึกษา มาใช้ด้วยการใช้คุณสมบัติของรายการโทรทัศน์ที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บางอย่างที่เฉพาะเจาะจง นำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นแนวคิดหรือย่นย่อให้เห็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีได้ในเวลาอันสั้นแต่ได้ใจความครบถ้วนเท่ากับการไปสังเกตดูด้วยตนเอง ด้วยความดีพิเศษของรายการโทรทัศน์ที่สามารถย่อเรื่องราวให้กระชับ ชัดเจนได้สาระครบถ้วน แต่ใช้เวลาสั้นเท่ากับที่บุคคลทั่วไปจะมีสมาธิเฝ้าชมรายการอยู่ได้ด้วยความตั้งใจประมาณ 15 นาที โครงการ ทีวีครู หรือรายการโทรทัศน์ครู เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่อยู่ในรูปของการบริการผ่านสื่อที่หลากหลาย ซึ่งรายการโทรทัศน์ได้รับการออกแบบมาเพื่อการสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน รวมไปถึงนิสิต นักศึกษาฝึกสอนของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนสถานศึกษาและเป็นผู้รับบริการการศึกษาด้วย

วัตถุประสงค์หลักของรายการโทรทัศน์ครู มุ่งที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาครูไทย ด้วยการให้ครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ได้เห็นตัวอย่างของการปฏิบัติการสอน การบริหาร การแก้ปัญหาอื่น ๆ ทางการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดแรงบันดาลใจ นำเอาแบบอย่างของการปฏิบัติทีดีนั้นไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอน การบริหารและการแก้ปัญหาภายในโรงเรียนของตนเอง

ลักษณะของการนำเสนอจะมุ่งนำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดี การบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนที่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี การแก้ปัญหาพิเศษที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนตลอดรวมไปถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวิถีชีวิตของครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทำไมรายการโทรทัศน์ครูจึงมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมของครูได้ ทั้งนี้เกิดจากการผลิตรายการโทรทัศน์ครู จะใช้มาตรฐานการผลิตระดับที่มีคุณภาพสูง (Broadcast quality) โดยเฉพาะคุณภาพด้านเทคนิค นอกจากนั้นยังมีกระบวนการคัดกรองเนื้อหาสาระด้วยผู้มีประสบการณ์สูงทางการศึกษา มีการตรวจสอบ คัดกรองอย่างพิถีพิถันก่อนนำออกเผยแพร่ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม ๓ ปีงบประมาณระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ถึงปีงบประมาณ ๒๕๕๕ โดยมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้บริหารโครงการ

แนวคิดของรายการโทรทัศน์ครู มีจุดเริ่มต้นจาก ความสำเร็จของการดำเนินงานรายการโทรทัศน์ครู ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ โดยการให้การบริการมีทั้งการนำเสนอรายการผ่าน โทรทัศน์ทั่วไป (Free TV.) โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม บริการผ่านเว็บไซท์ บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีรายการพร้อมบริการแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา มากกว่า ๓,๕๐๐ รายการ การพัฒนารายการโทรทัศน์ครูของประเทศไทย นับเป็นประเทศที่ ๒ ของโลกที่นำแนวคิดดังกล่าวมาดำเนินงาน ขณะนี้กำลังมีความพยายามของประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอื่นๆ ที่จะนำแนวคิดนี้ไปดำเนินการลักษณะเดียวกัน

พันธกิจของรายการโทรทัศน์ครู มุ่งที่จะยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในสถานศึกษา เป็นสำคัญ โดยเป้าหมายของการดำเนินงานจะพยายามพัฒนารายการโทรทัศน์คุณภาพสูงที่นำเสนอตัวอย่างของการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่มีเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงมิใช่เป็นเงื่อนไขที่ไกลเกินฝัน หรือไกลจากชีวิตของความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ครูและบุคลากรทางการศึกษายอมรับและนำไปเป็นแนวคิดในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนการแก้ปัญหาของตนเองได้ โดยตัวอย่างของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะนำเสนอในรายการจะมีกระบวนการคัดสรรทางวิชาการอย่างเป็นระบบ มีทั้งครูไทยและครูจากทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อเป็นเปิดโลกทัศน์และขยายมุมมองการจัดการเรียนการสอน แบ่งปันประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนของครูไทยให้ทันสมัยทันทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก

กลุ่มเป้าหมายหลักของรายการโทรทัศน์ครู ประกอบด้วย ครูที่ปฏิบัติการสอนอยู่ในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คนเศษ นิสิตนักศึกษาฝึกสอนของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศมากกว่าปีละ ๒๐,๐๐๐ คน กรรมการสถานศึกษา ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน ผู้บริหารโรงเรียน ประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งรายการโทรทัศน์ที่ผลิตขึ้นจึงมีเป้าหมายผลิตให้ครู ผู้บริหารโรงเรียน นิสิต นักศึกษาฝึกสอน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ได้ชมมากกว่าที่จะผลิตเพื่อสอนนักเรียน ดังนั้น โครงการโทรทัศน์ครูจึงแตกต่างจากรายการติวเตอร์แชนแนล (Tutor Channel) ในเชิงของวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนั้น ช่องทางการเผยแพร่รายการของรายการโทรทัศน์ครู จะเริ่มเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซท์ประมาณกลางเดือนกุมพันธ์ ๒๕๕๓ จากนั้นจะออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทย พี บี เอส ซึ่งได้รับความกรุณาและความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งจะสามารถเริ่มเผยแพร่ได้ในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปทุกวัน ๆ ละ 15 นาที หลังจากนั้นจะเป็นการเผยแพร่ผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม (Sattellite TV) ประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ส่วนการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ทสามารถเข้ารับชมได้ที่ http://www.thaiteachers.tv/ ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 เป็นต้นไป

ลักษณะเฉพาะของรายการโทรทัศน์ครู จะมีลักษณะของการสื่อสารเป็นแบบการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) กับเพื่อนครูและบุคลาการทางการศึกษา ผู้ปกครองและนิสิต นักศึกษาครูที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีการสร้างสามชิกเครือข่ายครู (Teacher Associate) เพื่อเป็นการเรียนรู้ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จากนั้นจะนำปัญหาและความต้องการนั้นกลับมาตอบสนองในรายการที่จะผลิตขึ้น ซึ่งในเว็บไซท์ของโครงการจะสามารถให้ครูและกลุ่มเป้าหมายสามารถรับชมรายการได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมถึงหากสนใจมากเป็นพิเศษ สามารถดาวน์โหลดหรือดึงข้อมูลไปใช้ในการประชุมหรือชมเองได้ตามความต้องการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับโรงเรียนที่ห่างไกล ไม่สะดวกในการดาวน์โหลดหรือรับชมรายการ โรงเรียนสามารถขอรับแผ่นบันทึกข้อมูลรายการได้ฟรี

ทำไมรายการโทรทัศน์ครู จึงมีความน่าสนใจและทำไมจึงทำให้ รายการโทรทัศน์ครูในประเทศอังกฤษประสบความสำเร็จ ซึ่งมีครูมากกว่าครึ่งเข้าชมรายการและดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมากในแต่ละเดือน เสน่ห์ของรายการโทรทัศน์ครู อยู่ตรงที่ว่า เป็นรายการที่ผลิตขึ้นด้วยคุณภาพการผลิตระดับสูงพร้อมที่จะนำไปออกอากาศได้ สถานการณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำ เป็นสถานการณ์จริง ไม่ใช่การแสดง ถ่ายทำตามบริบทของสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติไม่มีการปรับเสริมเติมแต่ง ขนาดความยาวของรายการ ประมาณ ๑๕ นาทีต่อตอน จึงเป็นการง่ายต่อการชมเพราะไม่ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน การนำเสนอรายการจะพยายามเน้นการเปลี่ยนแปลงนิสัย เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รายการจะพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้ครูเกิดแนวคิดในการที่จะนำแบบอย่างจากรายการโทร ทัศน์ครูไปปรับประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง

เชื่อมั่นว่า รายการโทรทัศน์ครู จะเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาวิชาชีพครูในประเทศไทย จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวาง และน่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ปรากฎการณ์ใหม่ สมาชิกกว่าสองแสนคน
ข่าวเดลินิวส์ รายงานข่าวถึงความสำเร็จของโครงการโทรทัศน์ครูที่ครบหนึ่งปีมีสมาชิกกว่าหนึ่งแสนคน มาจน ณ วันนี้มีสมาชิกเกือบ 200,000 คน และโรงเรียนต้นแบบโทรทัศน์ครูอีก 620 โรงเรียน “รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา ในฐานะ ผอ.โครงการโทรทัศน์ครู เปิดเผยว่า โทรทัศน์ครูมีสมาชิก 1.2 แสนคนเมื่อดำเนินได้หนึ่งปี ซึ่งตนตั้งเป้าไว้ว่าก่อนครบกำหนดสัญญาการดำเนินโครงการกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเดือนพฤษภาคม 55 จะเพิ่มจำนวนสมาชิกได้ถึง 2 แสนคน (ปัจจุบันมีสมาชิก 188,295 คน)

อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะทำงานพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและประกันคุณภาพโครงการโทรทัศน์ครูกำลังสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเริ่มต้นที่ภาคใต้ตอนบน ก่อนจะตระเวนสำรวจให้ครบทุกภูมิภาคภายในเดือนธันวาคม ซึ่งในเบื้องต้นพบว่า ครูใน พื้นที่ภาคใต้ตอนบนส่วนใหญ่รู้จักโทรทัศน์ครูเป็นอย่างดี และสามารถเข้าถึงการใช้งานรายการผ่านช่องทางเว็บไซต์และจากการดูแผ่นดีวีดีที่แจกให้แก่โรงเรียน 38,000 แห่งทั่วประเทศไปแล้ว

อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าหากสามารถเพิ่มมาตรการจูงใจครู เช่น การกำหนดเป็นอีกเกณฑ์หนึ่งในการเพิ่มวิทยฐานะก็จะยิ่งสร้างรูปแบบการพัฒนาครูที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

ในข่าวเดียวกันเราเห็นอีกด้านหนึ่งของการค้นหาผลสำเร็จของโทรทัศน์ครู เมื่อคณะทำงานเชื่อผลวิจัยจากการสุ่มตัวอย่าง 100 คน แล้วพบว่ามีไม่ถึง 30 คนที่ดูรายการ ไม่เชื่อมั่่นต่อการเติบโตของสมาชิกและการสร้างเครือข่ายครู เครือข่ายโรงเรียน ที่ได้ประโยชน์จากโทรทัศน์ครูทั่วประเทศ

“ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาระบบฯ กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน ยังคงพบปัญหาเดิม เช่น จำนวนผู้เข้าชมน้อย แม้ในการวัดผลล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จะมียอดกระเพื่อมขึ้นบ้างแต่ก็ยังถือว่าไม่มาก โดยจากการสุ่มตัวอย่าง 100 คน จะพบว่ามีผู้ที่ชมรายการโทรทัศน์ครูไม่ถึง 30 คน นอกจากนี้การผลิตสื่อในรายการที่ตรงกับบริบทครูไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นรายการจากต่างประเทศ

แต่ในแง่คุณภาพการผลิตสื่อถือว่าทำได้ดี น่าเสียดายที่มีผู้ชมยังไม่มาก รวมถึงยังไม่เห็นผลชัดเจนในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนพฤติกรรมการสอนของครูและการตระหนักถึงการพัฒนาครูของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าจำนวนสมาชิก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้ให้ข้อเสนอแนะมาโดยตลอดและเห็นว่าคณะทำงานมีความพยายามในการปรับปรุงแล้ว ส่วนการสรุปผลประเมินครั้งต่อไปจะทราบได้ในเดือนธันวาคม” ศ.ดร.ศิริชัย กล่าว

‘โทรทัศน์ครู’ ท่าจะไปไม่ไหว ดิ้นหาผู้สนับสนุนรายใหม่หลังสกอ.หมดสัญญาจ้าง

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 พ.ค. 2555 เกาะติดกระแสข่าวอีกครั้ง สมาชิกกว่าแสนเป็นห่วงโครงการจะปิดตัว ซึ่งในที่สุดก็ต้องปิดตัวไปจริงๆ
“จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) รับผิดชอบดำเนินโครงการโทรทัศน์ครู โดยมีระยะเวลาสัญญาโครงการระหว่างปี 2553-2555 นั้น รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มบ. ฐานะผู้อำนวยการโครงการโทรทัศน์ครู เปิดเผยว่า สัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 พ.ค.นี้ โดยที่ผ่านมาตนได้ส่งมอบงานให้กับ สกอ.ตามที่รับจ้างเรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้หารือในเบื้องต้นกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เพื่อขอให้ต่อสัญญาการดำเนินโครงการฯ

เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการโทรทัศน์ครูประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และมีสมาชิกครูทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามหาก สกอ.ไม่ยินดีที่จะต่อสัญญา ตนและทีมงานก็ยังพร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการต่อไป แต่อาจทำในรูปแบบที่จำกัด โดยอาจต้องตัดขาดบางกิจกรรมออกไปหรือมีความเข้มข้นในการดำเนินโครงการฯ น้อยลง หากจะดำเนินโครงการโทรทัศน์ครูหลังจากหมดสัญญาแล้ว คาดว่าต้องใช้งบประมาณสนับสนุนอย่างน้อยปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่ สกอ.ว่าจ้างประมาณปีละ 200 ล้านบาท

แต่ถ้าหากไม่ได้ต่อสัญญาสิ่งที่โครงการฯ จะทำได้คือการประคับประคองผังรายการ และดูแลศักยภาพของเนื้อหาให้เป็นไปตามเดิมให้มากที่สุด พร้อมกันนี้ได้เริ่มวางแผนขั้นตอนการดำเนินการกรณีไม่ได้รับการสนับสนุนจาก สกอ. โดยจะไปของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานผู้ใช้ครู” รศ.ดร.มนตรีกล่าว

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า ขณะนี้ สกอ.ได้มีการพิจารณาโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเป็นโครงการฯ ที่ดี เนื้อหาหลายรายการดี แต่ สกอ. ก็คงไม่ทำการว่าจ้างต่อหลังจากสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ภาระหน้าที่โดยตรงของ สกอ. แต่ที่ สกอ.ลงมาทำเพราะต้องการประสานงานเพื่อให้โครงการฯ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตนได้ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารโครงการฯ ไปแล้วว่าควรมีการทำวิจัยรองรับผลสำเร็จของโครงการฯ และให้ไปคุยกับ สพฐ. และหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากโครงการนี้”

เมื่อโทรทัศน์ครูต้องปิดตัวเองลง

จนถึงตอนนี้ การดำเนินงานโทรทัศน์ครู หมดสัญญาลงไปแล้วในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ นี้ แม้ว่า รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร จะระบุว่า โทรทัศน์ครูจะไม่เลิกหรือปิดตัว ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน

“โทรทัศน์ครู ได้กลายเป็นนวัตกรรมการศึกษา ที่ทรงประสิทธิภาพ มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของครูไทย อย่างชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่เสมือนจะเป็น สัญญาณบอกว่า โทรทัศน์ครู คงจะเลิกหายไปจากสังคมไทยไม่ได้อีกแล้ว ความยั่งยืนต่อเนื่อง จะต้องมีต่อไปอย่างแน่นอน ดังนั้น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จะขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดำเนินงานโครงการโทรทัศน์ครูต่อไป และหวังว่า คงจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐต่อไป”

แต่ไม่อาจยื้อเวลาได้เมื่อทางบริษัท ไทยทีชเชอร์.ทีวี จำกัด แจ้งให้สมาชิกทราบว่า ช่องโทรทัศน์ครูจะเปลี่ยนแปลงการออกอากาศเป็นช่อง “CUBE Channel” ซึ่งเป็นช่องวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอรายการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องใกล้ตัว สนุกสนาน เข้าใจง่ายและได้สาระประโยชน์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการคิดโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีกลุ่มเป้าหมายสำหรับคนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ ช่อง Cube Channel ดำเนินการโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ผลิตรายการโดยบริษัท ไทยทีชเชอร์.ทีวี จำกัด ซึ่งจะทำการออกอากาศ วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2555 เริ่มทดลองออกอากาศ ระบบ KU – BAND ช่อง 36 ซึ่งยังคงมีรายการจากโทรทัศน์ครู และ จะออกอากาศในระบบ C band ในอนาคต

แม้ว่าโทรทัศน์ครูปิดตัวไปแล้วแต่ยังจะมีรายการจากโทรทัศน์ครูให้ได้ดูกันในช่องดังกล่าว แต่ปรากฎการณ์โทรทัศน์ครูมันได้สะท้อนให้เราเห็นถึงการเกิดและดับที่รวดเร็วเกินไป ท้ายสุดนี้ ผมเกิดคำถามสองประการในฐานะครูว่า หรือว่าครูในประเทศนี้ยังเป็นได้แค่หนูทดลอง และ หรือว่าพวกเราไม่สนใจพัฒนาตนเองกันจริงๆ.

3 thoughts on “ปิดตัวโทรทัศน์ครูเหลือแค่ความทรงจำกับสมาชิกสองแสนคน

ใส่ความเห็น