การสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ครั้งสำคัญ ที่มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูป สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นมา มีผู้เข้าร่วมการสัมมนา ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ ตัวแทนของภาคประชาชนทั่วไป ภาคการเมือง และสื่อมวลชน กว่า 700 คน ในหัวข้อ “ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” (Revamping Thai Education System:  Quality for All) เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ นับได้ว่าเป็นการประชุมที่มีผู้อ้างอิงข้อมูลในการสัมมนาครั้งนี้จำนวนมาก ทางโรงเรียนจึงขอนำมาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อให้นักการศึกษาทุกท่านที่แวะมาเยือนได้ดาวน์โหลดข้อมูลจากลิ้งค์นี้ (แนบไฟล์ในช่วงกำหนดการประชุม)

 หัวข้อที่ 1: การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง (The New Round of Education Reform: Toward Inclusive Quality Education)

หัวข้อที่ 2: การสร้างความเชื่อมโยงของการศึกษากับตลาดแรงงาน (The Development of a Better Linkage between the Education System and the Labor Market)

หัวข้อที่ 3: ระบบการบริหารและการเงินเพื่อสร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา (A Management and Financial Model for a Greater Accountability in Education Management)

หัวข้อที่ 4: โรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชน (Alternative Education as a Choice of Education)

ความเป็นมา

แม้ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสการศึกษาพื้นฐานสู่คนชนบทและคนยากจน แต่ขณะนี้สังคมไทยมีความห่วงใยเรื่องคุณภาพการศึกษาของบุตรหลาน การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และนับวันยิ่งดูเหมือนว่าปัญหามีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลง ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากขาดความรู้และทักษะที่นายจ้างต้องการ ผลการทดสอบของนักเรียนไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศมีแนวโน้มที่แย่ลง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวการซื้อขายปริญญาและวุฒิการศึกษาของสถาบันต่างๆ อย่างกว้างขวาง ฯลฯ การจะแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และคนไทยจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสสำเร็จก็ยังคงมีอยู่ หากสังคมไทยมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง และมีจินตนาการในการก้าวให้พ้นไปจากข้อจำกัดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้กำหนดให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นหัวข้อวิจัยที่มีความสำคัญสูงสุดของสถาบันฯ ซึ่งต้องดำเนินการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำงานเป็นภาคีร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งในการดำเนินการดังกล่าวก็คือ การจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษา เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ โดยเริ่มจากการสัมมนาใหญ่ของสถาบันฯ ประจำปี (TDRI Year-end Conference) 2554

กรอบเนื้อหาของการสัมมนา

เนื้อหาของการสัมมนาในครั้งนี้จะประกอบไปด้วยการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยใน 4 หัวข้อหลักคือ กรอบแนวคิดในการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง การศึกษาแนวทางการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับตลาดแรงงานเพื่อให้สถาบันการศึกษาสามารถผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การใช้ระบบการเงินและการบริหารเป็นเครื่องมือในการสร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ การวิเคราะห์ถึงโอกาสของการที่ “การศึกษาทางเลือก” (alternative education) จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา ตลอดจนวิเคราะห์ถึงโรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชนจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาสำหรับคนส่วนใหญ่

หัวข้อที่ 1: การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง (The New Round of Education Reform: Toward Inclusive Quality Education)

โจทย์สำคัญที่สุดในการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่คือ การมุ่งสู่การสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ประชากรทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้า จากเดิมที่เคยเน้นการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน นอกจากนี้ ความต้องการทางการศึกษาในประเทศไทยยังมีความหลากหลายขึ้น จากทั้งความต้องการของครอบครัวเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวเด็กและเยาวชนในพื้นที่ด้อยโอกาสในปัจจุบันที่ต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ ความต้องการของแรงงานในการยกระดับทักษะอย่างต่อเนื่องผ่านระบบการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาวะแวดล้อมของตลาดแรงงานได้ ตลอดไปถึงความต้องการของกลุ่มแรงงานนอกระบบ และความจำเป็นที่ต้องให้การศึกษาแก่ลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย ทั้งด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมและด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ

บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาในมุมมองของคุณภาพของการศึกษาในประเทศไทยจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) ต่างๆ เพื่อกำหนดกรอบแนวคิดโดยรวมในการวิจัยเพื่อยกเครื่องการศึกษาของประเทศไทย ให้เปลี่ยนไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับประชากรกลุ่มต่างๆ อย่างถ้วนหน้า บทความจะวัดสัมฤทธิ์ผลของระบบการศึกษาไทย ทั้งในเรื่องคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ระบุประเด็นสำคัญและวิเคราะห์สาเหตุที่คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ รวมทั้งสาเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษา ศึกษาเหตุผลสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาด้านคุณภาพในรอบที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะประเด็นความพยายามในการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพครู และเสนอแนวทางสำคัญในการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาที่มีความเป็นไปได้

หัวข้อที่ 2: การสร้างความเชื่อมโยงของการศึกษากับตลาดแรงงาน (The Development of a Better Linkage between the Education System and the Labor Market)

นอกจากการพัฒนาประชาชนให้เป็นพลเมืองของประเทศ และกล่อมเกลาทางสังคมแล้ว ระบบการศึกษายังมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาแรงงานที่มีคุณภาพให้แก่ภาคการผลิต รวมทั้งการพัฒนาให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสัมมาชีพที่ต้องการ ดังนั้นการที่ผู้จบการศึกษาใหม่ทั้งผู้ที่ต้องการเป็นลูกจ้างและประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการทำงานในตลาดแรงงาน จึงสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพ หรืออย่างน้อยไม่สามารถผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ (mismatch) การสร้างความเชื่อมโยงของการศึกษากับตลาดแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจไทยในเวทีโลก

กลไกตลาดเองก็ได้ปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวบางส่วน ดังจะเห็นได้จากการที่นายจ้างรายใหญ่บางรายได้ลงทุนตั้งสถาบันขึ้นมาฝึกอบรมแรงงานของตน เช่น การตั้งโรงเรียนปัญญาภิวัตน์ของบริษัทซีพีออล หรือการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเอกชนแนวใหม่เช่นสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นซึ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งทำให้นักศึกษาที่จบออกมาสามารถหางานทำได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ลำพังกลไกตลาดก็ยังมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาความเชื่อมโยงของสถาบันการศึกษากับตลาดแรงงาน ด้วยเหตุผลต่างๆ โดยเฉพาะการที่รัฐยังมีบทบาทอย่างสูงในการเป็นผู้กำกับดูแลตลาดการศึกษา หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ให้บริการในตลาดการศึกษาเสียเอง จึงสมควรต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนบทบาทและนโยบายของรัฐเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของการศึกษากับตลาดแรงงานให้เกิดขึ้นในวงกว้าง

วัตถุประสงค์ของบทความคือศึกษาคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานว่าสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างเพียงใด ปัญหา skill mismatch และวิเคราะห์แรงจูงใจสำหรับผู้จบการศึกษาระดับต่างๆ เพื่อตอบคำถามว่าทำไมตลาดแรงงานจึงขาดแคลนผู้สำเร็จระดับอาชีวศึกษา อะไรทำให้ผู้จบอาชีวศึกษาส่วนใหญ่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาของนายจ้างและสถานศึกษาในปัจจุบันว่าประสบความสำเร็จและมีอุปสรรคอย่างไร และแสวงหาลู่ทางที่เป็นไปได้ในการเชื่อมโยงให้มีการจัดการศึกษาที่สนองต่อความต้องการของตลาด รวมทั้งการสร้างระบบแรงจูงใจในตลาดแรงงาน

หัวข้อที่ 3: ระบบการบริหารและการเงินเพื่อสร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา (A Management and Financial Model for a Greater Accountability in Education Management)

การที่ระบบการศึกษาของไทยมีปัญหาคุณภาพที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงการขาดกลไกในการสร้างความรับผิดชอบ (accountability) ที่มีประสิทธิผลในระดับต่างๆ ของระบบการศึกษา ทั้งในส่วนความรับผิดชอบของครูอาจารย์ต่อนักเรียนนักศึกษา ความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาต่อผลงานของครูอาจารย์ตลอดไปจนถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักในการจัดการศึกษา

กลไกหนึ่งในการสร้างความรับผิดชอบในระบบการศึกษาคือ การใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะกลไกทางการเงินด้านอุปสงค์ (demand-side financing) ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนรูปแบบในการบริหารการศึกษา เพื่อจูงใจให้ผู้จัดการศึกษาต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนกลุ่มต่างๆ บทความนี้จะสำรวจถึงการใช้เครื่องมือด้านการเงินรูปแบบต่างๆ เช่น คูปองการศึกษา (educational voucher) เงินกู้เพื่อการศึกษา การให้รางวัลแก่ครูและนักเรียน ตลอดจนการใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการในลักษณะต่างๆ อาทิเช่น การกระจายอำนาจทางการศึกษาแก่ท้องถิ่น การว่าจ้างมืออาชีพให้บริหารโรงเรียนในรูปแบบที่เรียกว่า chartered school เป็นต้น บทความนี้ยังจะนำเสนอแนวทางในการใช้เครื่องมือต่างๆ ดังกล่าวที่เหมาะสมกับประเทศไทย

หัวข้อที่ 4: โรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชน (Alternative Education as a Choice of Education)

ปัญหาคุณภาพของการศึกษาในระบบของประเทศไทยได้ทำให้เกิด “การศึกษาทางเลือก” (alternative education) ต่างๆ ขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งโรงเรียนทางเลือกในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก ทั้งโรงเรียนนานาชาติที่ดำเนินการอย่างธุรกิจเต็มรูปแบบ โรงเรียนที่ใช้แนวคิดทางศาสนาหรือปรัชญาต่างๆ ในการจัดการศึกษา และโรงเรียนขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ ตลอดจนการที่กลุ่มพ่อแม่บางส่วนหันมาจัดการศึกษาให้ลูกของตนด้วย “โรงเรียนบ้าน” (home school) ซึ่งเน้นปรัชญาหรือวิธีการเรียนการสอน (pedagogy) ที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไป

คำถามที่สำคัญก็คือ การศึกษาทางเลือกเหล่านี้จะเป็นทางเลือกในการศึกษาของประชาชนในวงกว้างได้เพียงใด หรือจะเป็นเพียงทางเลือกเฉพาะของ “คนชั้นกลาง” และ “คนชั้นสูง” ส่วนน้อยเท่านั้น? บทความนี้จะสำรวจสถานะของโรงเรียนทางเลือกในประเทศไทยทั้งในด้านรูปแบบของการดำเนินการ จำนวนและคุณภาพของครูผู้สอน ต้นทุนในการดำเนินการ ค่าเล่าเรียนที่จัดเก็บจากนักเรียน โอกาสในการเข้าถึงของคนกลุ่มต่างๆ ตลอดจนศึกษาข้อจำกัดด้านกฎระเบียบและนโยบายของรัฐที่ทำให้โรงเรียนทางเลือกเหล่านี้ยังไม่สามารถเป็นทางเลือกของคน ส่วนใหญ่ของประเทศได้มากที่เท่าควร

วันและสถานที่จัดการประชุม

การสัมมนาจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

 

กำหนดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554

“ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง”
(Revamping Thai Education System: Quality for All)

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555
ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 

08:00-08:45
ลงทะเบียน (บริเวณห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22)
08:45-09:00
เปิดการสัมมนา
โดย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย[PDF]
09:00-10:30
หัวข้อที่ 1 การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง[MP3]
ประธาน :
ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
ผู้เสนอ
ดร. อัมมาร สยามวาลา
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย [PDF,PPT]
ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย [PDF]
ผู้วิจารณ์
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร
มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
ถาม-ตอบ
10:30-10:45
พักรับประทานอาหารว่าง/ชา/กาแฟ
10:45-12:30
หัวข้อที่ 2 การสร้างความเชื่อมโยงของการศึกษากับตลาดแรงงาน[MP3]
ประธาน :
นางสุวรรณี คำมั่น
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้เสนอ
ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย [PDF,PPT]
ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย [PDF,PPT]
ผู้วิจารณ์
ดร. ศิริพรรณ ชุมนุม
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ถาม-ตอบ
12:30-13:30
พักรับประทานอาหารกลางวัน (ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เอ ชั้น 22)
13:30-15:00
หัวข้อที่ 3 ระบบการบริหารและการเงินเพื่อสร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา[MP3]
ประธาน :
ดร. พิษณุ ตุลสุข
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้เสนอ
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย[PDF,PPT]
ผู้วิจารณ์
รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ถาม-ตอบ
15:00-15:15
พักรับประทานอาหารว่าง/ชา/กาแฟ
15:15-16:45
หัวข้อที่ 4 โรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชน[MP3]
ประธาน :
นายมีชัย วีระไวทยะ
สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน[PPT]
ผู้เสนอ
อ. ปกป้อง จันวิทย์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[PDF,PPT]
ผู้วิจารณ์
ดร. เดชรัต สุขกำเนิด
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[PPT]
ถาม-ตอบ
16:45-16:50
ประเด็นวิจัยและการขับเคลื่อนโจทย์ปฏิรูปการศึกษาของทีดีอาร์ไอ
โดย ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
-จบการสัมมนา –

1 thoughts on “ดาวน์โหลดเอกสารสัมมนา “ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง”

ใส่ความเห็น