ก้าวเดินบนเส้นทางแห่งปอเนาะ (1)

(การเดินทางเพื่อแผ้วถางทางสวรรค์ของโต๊ะครูอับดุลมาลิกวัยเด็ก)

หมู่บ้านในป่าริมฝั่งทะเลอันดามันยามเช้าตรู่ดูมีชีวิตชีวาอย่างเด่นชัดหลังพระอาทิตย์กลมโตลอยเด่นเหนือมหาสมุทรและสาดแสงสีทองจนพื้นน้ำทะเลเปลี่ยนสีดูเป็นประกายวิบวับ สัญญาณของวันใหม่เริ่มขึ้นแล้ว ความเป็นไปของขวบวันในโลกดั่งราวเครื่องย้ำเตือนจากพระผู้เป็นเจ้าว่า ชีวิตของมนุษย์ต้องก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อแผ้วถางเส้นทางไปสู่สรวงสวรรค์ของพระองค์ ฝันของใครก็ของมัน ผู้ใดมีฝันต้องทำให้มันเป็นจริงด้วยสองมือ

เด็กหนุ่มสองสามคนเดินดิ่งไปสู่ท่าเรือเล็กๆ ชายฝั่ง หนึ่งในนั้นหอบสัมภาระเต็มแขนสองข้าง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตในหนทางข้างหน้า เขาและเพื่อนก้าวลงเรือแจวลำเล็กพร้อมจัดสัมภาระให้เข้าที่ เมื่อนั่งประจำที่ของแต่ละคน หนึ่งในนั้นก็ถอดเชือกที่คล้องไว้ ก่อนยื่นมือมาผลักตลิ่ง ไสเรือของตนเองโคลงเคลงสู่ห้วงทะเลลึก

“พรรคพวกแจวเรือไปส่งที่บ้านบากัน เพราะตรงนั้นเป็นท่าเรือใหญ่ เขาเรียกเมืองดอน ก็ออกเดินทางกันแต่เช้า แจวไปเรื่อย พระอาทิตย์ขึ้นหัวก็ร้อนจนเหงื่อเป็นมันปลาบ เสื้อผ้าเปียกหมด พอเที่ยงก็ไปถึงท่าเรือบ้านบากัน ขึ้นจากเรือก็ร่ำลาเพื่อนฝูงวัยเด็กก่อนเดินเท้าต่อไปทางป่าขี้แกลบ ป่าเทือก ป่าพังกา เป้าหมายคือบ้านอ่าวลึกน้อย” โต๊ะครูอับดุลมาลิกย้อนอดีตของเด็กชายดำรงค์ เริงสมุทร์ ซึ่งก็คือตนในวัยเด็ก แววตาและน้ำเสียงของชายชรา ราวกับว่าภาพและเสียงในห้วงนั้นยังฉายชัดอยู่ในความทรงจำ

เป้าหมายของเด็กชายผู้เพิ่งจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนบ้านแหลมสัก คือปอเนาะบ้านตาล ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุที่เด็กชายดำรงค์ เริงสมุทร์ต้องพาสังขารของวัยประถมออกเดินทางไกล นอกจากโรงเรียนในตัวอำเภอมีระยะห่างผ่านป่าดงดิบกับบ้านแหลมสักกว่า 15 กิโลเมตร และที่สำคัญ ในห้วงเวลานั้นที่จังหวัดกระบี่ยังไม่ปรากฏว่ามีปอเนาะสอนศาสนา

“มือขวาหิ้วกระเป๋า มือซ้ายหิ้วห่อปลาแห้ง ตั้งใจเอาไปกินระหว่างทาง พอถึงอ่าวลึกน้อย ก็ขึ้นไปทางปากทางบ้านหนองหลุมพอ ไปถึงก็เย็นแล้ว เลยนอนพักที่บ้านญาติที่นั่นหนึ่งคืน”

รุ่งเช้า แสงอาทิตย์ยังไม่ทันร้อน ใบไม้ไม่ทันแห้งน้ำค้าง เด็กชายหยิบเอาห่อสัมภาระแล้วก้าวลงจากบ้านญาติสนิท เป้าหมายของเขาคือบ้านทุ่ง ชุมชนมุสลิมเขตแดนระหว่างอ่าวลึกและเมืองกระบี่

“ชาดเสดสาจริงๆ … โอ้ย! ภาพตอนนั้นใครเห็นแล้วก็ว่าแลบอบครัน!” โต๊ะครูอับดุลมาลิกอุทานภาษาถิ่นพลางหัวเราะเสียงลั่น หากดูความหมายของคำนั้น ก็คงไม่มีใครคิดว่าเรื่องตลก เพราะมันหมายถึงสภาพบอบช้ำทุลักทุเล และชวนเวทนา

หากแต่มันแค่คำอุทาน เพราะเมื่อย้อนกลับไปถึงจิตใจอันมุ่งมั่นขณะนั้นของเด็กชายแล้วความน่าเวทนาควรแปรเปลี่ยนเป็นความชื่นชมต่ออุตสาหะ เพราะวัยที่น่าวิ่งเล่นกับเพื่อนในราวป่า ท้องทุ่ง หรือชายทะเล เขากลับพาตัวเองออกเดินทางไปสู่สำนักการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนภูมิรู้ให้ตนเอง

“ผมไปนอนที่บ้านทุ่งอีกหนึ่งคืน ไปพบกับคนแก่อีกคน เป็นญาติห่างๆ กัน ชื่อ ‘ชายล๊ะฮ์’ แกจะไปเยี่ยมลูกชายที่นครศรีฯ ด้วย ลูกชายแกเรียนอยู่ในปอเนาะแล้ว ผมจึงได้พลอยไปกับแก รุ่งเช้าเราไปขึ้นรถสองแถวประจำทางของ ‘โกสู่’ ที่วิ่งระหว่างเมืองตรัง เมืองกระบี่ และเลยมาจอดรับส่งคนที่แยกบ้านทุ่งด้วย นั่งรถไปถึงเมืองตรังก็เย็นแล้ว เลยคุยกับชายล๊ะฮ์ว่าจะหาโรงแรมนอน ไปดูที่โรงแรมแล้วปรากฏว่าเต็ม เลยไปนอนกันที่สถานีรถไฟ วางของแล้วก็นอนกันตรงชานชาลา เพราะรุ่งเช้าอีกวันเราจะขึ้นรถไฟที่นี่ไปเมืองนคร”

เช้าตรู่ รถไฟเที่ยวแรกระหว่างเมืองตรัง-นครศรีธรรมราชก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่ชานชาลา เด็กชายหอบหิ้วกระเป๋าและถุงปลาแห้งขึ้นตู้โบกี้ เขาเพิ่งเห็นยานพาหนะแปลกตาเช่นนี้เป็นครั้งแรก มันดูแข็งแรงแต่เก่า และยาวเฟื้อยเหมือนงูใหญ่ยามเลื้อยผ่านหุบเขา เด็กชายคิดในใจว่า รถว่าหาดูยากแล้วในชีวิต นี่หากมิยอมตัดสินใจออกมาท่องโลกกว้าง ตนเองก็คงมิมีโอกาสได้เห็นยวดยานที่มีเสียงแผดดังน่าตระหนกตกใจเยี่ยงนี้

“ไปถึงเมืองนครก็พลบค่ำพอดี” โต๊ะครูอับดุลมาลิกให้ภาพ ก่อนบอกว่าเขาลงจากรถไฟพร้อมญาติวัยดึก และต้องพึ่งสองเท้าทำหน้าที่พาเขาออกเดินทางอีกครั้ง เนื่องจากไม่รู้จักใครในเมืองใหญ่อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรตามพรลิงค์ยุคโบราณ รถราที่วิ่งกันขวั่กไขว่ในเมืองใหญ่ก็ดูแปลกหน้าไปเสียหมด จนเด็กชายไม่กล้าขึ้นไปนั่งด้วยเกรงว่าจะพาเขาหลงทิศหลงทาง

“เดินไปเรื่อยๆ ก็ถามเขาไปเรื่อย สุดท้ายไปถึงที่ปอเนาะนาเคียนชานเมืองนคร เป็นปอเนาะของ ‘โต๊ะครูยากู้บ’ ซึ่งแก่มากแล้ว ที่นั่นผมมีญาติยายเดียวกัน เขามาเรียนอยู่ทั้งผัวทั้งเมียจนเป็นคนสอนเด็กแล้ว ก็อาศัยนอนที่นั่นอยู่ 7 คืน ก็ออกเดินทางต่อไปยังปอเนาะบ้านตาลซึ่งที่นั่นมีโ ‘ต๊ะครูยากู๊บ’ วัยหนุ่มอยู่ ผมตั้งใจแต่แรกว่าจะไปเรียนที่นั่น

กล่าวถึง ‘ปอเนาะบ้านตาล’ หลายคนคงได้ยินชื่อหรือคุ้นชื่อเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นปอเนาะของตระกูล ‘พิศสุวรรณ’ ซึ่งมี ‘อัลมัรฮุมฮัจยีอิสมาแอล พิศสุวรรณ’อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาของ ‘ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ เลขาธิการอาเซียน และ ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายสมัยเป็นเจ้าของ อยู่ในชุมชนมุสลิมของ ม.6 ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเป็นปอเนาะตั้งแต่ปีพ.ศ.2478 กระทั่งปี 2512 โรงเรียนได้แปรสภาพการสอนระบบปอเนาะมาเป็นการสอนระบบโรงเรียน โดยใช้ชื่อภาษาอาหรับว่า “มะฮัดมิสบาฮุดดีน” หรือ โรงเรียนประทีปศาสน์

ห้วงเวลาที่โต๊ะครูอับดุลมาลิกวัยเด็กเข้าไปร่ำเรียนมิใช่โรงเรียนประทีปศาสน์ปัจจุบัน แต่คือปอเนาะบ้านตาลที่มีเพียงกระท่อมปลูกสูงยืนเรียงรายโย้เย้ แต่คลาคล่ำไปด้วยผู้ใฝ่รู้จากทั่วสารทิศ เขาบอกว่าวิถีของเด็กปอเนาะสมัยนั้นคือการเรียนศาสนาอย่างหนัก และพึ่งพาการดำรงชีพด้วยตนเอง

“สมัยนั้น ดร.สุรินทร์ยังเด็ก ผมยังช่วยอุ้มและตัดผมให้กับกรรไกรบ่วง พอโตหน่อยแกไปเรียนประถมที่โรงเรียนวัด ผมจำได้ว่าพ่อของแกอยากให้แกเป็นเด็กปอเนาะ เป็นโต๊ะครู แต่แกอยากเป็นนายอำเภอ”

เมื่อวกไปที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ นักการเมืองน้ำดีที่สังคมมุสลิมภูมิใจแล้วโต๊ะครูอับดุลมาลิกยังมีเกร็ดเล่าให้ฟังอีกว่าสมัยที่อยู่ปอเนาะบ้านตาล เด็กชายสุรินทร์ก็มาหุงข้าวหุงน้ำกินกับแกบ่อยๆ มานอนพานั่งเล่นประหนึ่งคนสนิทชิดเชื้อ ครั้งหนึ่ง ดร.สุรินทร์ หรือ ‘อับดุลฮาหลีม บิน อิสมาแอล’ จบการศึกษากลับมาจากอเมริกาและลงการเมืองใหม่ๆ เดินทางมาปราศรัยที่บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ท่อนหนึ่งนักการเมืองมุสลิมหนุ่มที่ต่อมากลายเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เล่าให้คนฟังว่า แกมีบุคคลในความทรงจำจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือโต๊ะครู ‘ยีมาเล๊ะ’ ซึ่งเป็นคำเรียกสั้นๆ แบบคนใต้ของ ‘โต๊ะครูฮัจยีอับดุลมาลิก’

“แกบอกคนบ้านกลางว่า สมัยเด็กๆ แกผูกพันกับคนกระบี่มาก คือโต๊ะครูยีมาเล๊ะ อุ้มแก ตัดผมให้แก” บาบอวัยชรากล่าวด้วยรอยยิ้มภาคภูมิใจ ความทรงจำของแกทำงานอีกครั้ง และหนึ่งในนั้นคือคนสำคัญระดับนานาชาติที่แกภาคภูมิใจ

“ผมเรียนอยู่ปอเนาะบ้านตาล 6 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานมาก” โต๊ะครูอับดุลมาลิกย้อนกลับมาสู่เส้นทางของวันวารแห่งชีวิต

หลายคนโดยจำเพาะคนมิใช่มุสลิมอาจสงสัยว่า ในปอเนาะนั้นเรียนอะไร การที่โต๊ะครูอับดุลมาลิกวัยเด็กใช้เวลาเรียนถึง 6 ปีนั้นจบชั้นอะไร หากอธิบายกันตามแบบหลักสูตรของสถานศึกษาปอเนาะทั่วไปนั้น วิชาที่สอนในปอเนาะได้แก่ ได้แก่ การสอนภาคศรัทธา (เตาฮีด) ภาคปฏิบัติ (ฟิกหฺ) ซึ่งรวมถึงศาสตร์มรดกและครอบครัว (ฟะรออิฏ) ภาคจริยธรรม (อัคลาก)ภาคประวัติศาตสตร์ (ตารีค) การอ่านอัลกุรอาน และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามหลักศาสนา สอนเป็นภาษามลายูและภาษาอาหรับ ระยะเวลาในการเรียนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับความสมัครใจ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 2-6 ปี  แต่ก็มีผู้ศึกษาจนถึง 10-15 ปี

ส่วนระดับของนักเรียน นักเรียนแบ่งเป็น ๓ ระดับ หรือเรียกว่า รุ่นอิบตีดาอี เป็นรุ่นเริ่มเรียน รุ่นมูตาวัซซิต เริ่มอ่าน เขียน แปลได้ รุ่นอาลี เป็นครูพี่เลี้ยงได้ แต่ละวิชาจะมีหนังสือเรียนตามรุ่น รุ่นอิบตีดาอี เรียนเล่มเล็ก รุ่นมูตาวัซซิต เรียนเล่มกลาง และรุ่นอาลีเรียนเล่มใหญ่

หากแต่โต๊ะครูอับดุลมาลิกบอกว่า สมัยนั้นไม่มีการแบ่งระดับชั้นชัดเจนเหมือนทุกวันนี้ การเรียนรู้ไม่จำกัดว่าใครเรียนถึงขั้นไหนและสอบถึงชั้นอะไร แต่เรียนกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้เชี่ยวชาญแตกฉานทีละอย่าง เพราะฉะนั้นจึงเรียนชั้นเดียวกันหมดทุกคน

“สมัยนี้มันแปลงระบบเป็นควบคู่สามัญ จึงแบ่งชั้นชัดเจน แต่ถ้าเป็นโรงเรียนระบบเก่า จะยังคงเหมือนเดิม เราเรียนกันให้ฉลาดและรู้ให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ ไม่ได้ต้องการประกาศนียบัตรหรือระดับชั้นการศึกษา” ห้วงหนึ่ง บาบอวัยชราพูดถึงระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไป

หลังได้ความรู้ที่ตักตวงเอาจากปอเนาะบ้านตาล ชายชรานั่งลงทบทวนก่อนจะตัดสินใจออกเดินทางไกลอีกครั้ง หากแต่ครั้งนี้หนทางยาวไกลยิ่งกว่า

“ผมไปเรียนต่อที่ปอเนาะสำหลา ใกล้มัสยิดกรือเซะ ได้ข่าวว่าที่นั่นโต๊ะครูมีความรู้ดี มีวิชา จึงนั่งรถยนต์จากนครศรีไปลงที่หาดใหญ่  และนั่งรถไฟจากหาดใหญ่ไปลงที่สถานีโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี แล้วนั่งสองแถวจากสถานีรถไฟไปบ้านกรือเซะ ผมจำได้ว่าปอเนาะแห่งนั้นใช้ระยะทางเดินเท้าจากมัสยิดกรือเซะประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งผมใช้เวลาเรียนอยู่ที่นั่นทั้งหมด 4 ปี”

เป็น 4 ปีอันน่าจดจำอย่างยิ่งของโต๊ะครูอับดุลมาลิกในวันนี้

ภาพความเคลื่อนไหว แสง สี กลิ่นและความรู้สึกยังผุดพรายอยู่ในห้วงความคำนึงของบาบอวัยชราอันควรค่าแก่การทัศนาของคนรุ่นหลังยิ่ง

โปรดติดตามพร้อมเปิดดวงใจทิ้งไว้รอเรื่องเล่าตอนต่อไป.

 

Advertisement

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s