คณะทำงาน “โครงการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” ได้คัดเลือกให้โรงเรียนประทีปธรรม มูลนิธิ เป็นโรงเรียนเครือข่ายบูรณาการอิสลาม และได้เข้าร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายและแนวทางดำเนินงานกับโรงเรียนเครือข่ายเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2554 ณ ลีลารีสอร์ท อ.เทพา จังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และทราบถึงความตั้งใจจริงของโรงเรียนที่จะเข้าร่วมเป็นเครือข่าย จึงได้ลงนามกับโรงเรียนแหล่งเรียนรู้ โรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลนุสรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนแหล่งเรียนรู้ภาคใต้ตอนบนและอันดามัน โดยหลังลงนามเข้าร่วมเครือข่ายแล้ว ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1. กิจกรรมสำรวจทุน (ดำเนินการโดยโรงเรียนแหล่งเรียนรู้ โรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลนะสรณ์ จ. นครศรีธรรมราช)
2. กิจกรรมลงนามในสัญญา TOR
3. ทุนสนับสนุนเพื่อริเริ่มโครงการการพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายบูรณาการอิสลาม
4. รับการนิเทศติดตาม จากโรงเรียนแหล่งเรียนรู้
5. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนแหล่งเรียนรู้ประทีปศาสน์อิสมาอีลนุสรณ์ จ.นครศรีธรรมราช และโรงเรียนเครือข่าย 4 โรง ซึ่งประกอบด้วย 1) โรงเรียนประทีปธรรม มูลนิธิ จ.กระบี่ 2) โรงเรียนนิด้าศึกษาศาสตร์ จ.สตูล 3) โรงเรียนท่าใหญ่วิทยา จ.สงขลา และ 4) โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ จ.สงขลา
6. รับการนิเทศติดตาม จากโรงเรียนแหล่งเรียนรู้หลังจากผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
7. กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายในด้านการบูรณาการ
8. กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจนจบโครงการ เช่นการทำวิจัย เป็นต้น
ทำความรู้จัก “โครงการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ”
โครงการดำเนินการโดย ผู้อำนวยการโรงเรียน 4 โรงเรียน ดังนี้ 1) ผู้อำนวยการโรงเรียนภัทรียาอนุบาล 2) ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีธรรมวิทยา 3) ผู้อำนวยการโรงเรียนดารุลอุโลมนิบงบารู 4) ผู้อำนวยการโรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์
โดยมีภาคีร่วมพัฒนา 1) สำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ 2) มัสยิดในชุมชน และ 3) โครงการปฏิรูปหลักสูตรโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ส่วนของประเทศไทย (CRP project)
ด้าน ภาคีสนับสนุนนั้นมี 1) วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 2) สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาและ 3) โครงการอิสลามศึกษาและการพัฒนาชุมชนมุสลิมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ISWU) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 5) เครือข่าย ASEAN Muslim Research Organization Network (AMROM) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 6) สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 12 ยะลา 7) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ความเป็นมาและความสำคัญเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามพื้นที่จังหวัดภาคใต้
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวดที่ 4 มาตรา 23 กำหนดไว้ว่า “การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสม ในแต่ละระดับการศึกษาและในมาตรา 24(4) ได้กำหนดไว้ว่า “การจัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา” ซึ่งในบทบัญญัติได้ถูกนำมาแปลงเป็นปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนและชุมชนบนฐานวัฒนธรรมของแต่พื้นที่
แม้ว่ากฎหมายได้มีบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจน สภาพการณ์ในสังคมไทย การศึกษายังไม่มีพลังพอที่จะพามนุษย์ออกจากวิกฤตและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนเดิมจนเกิดทุกขภาวะ ผลจากการศึกษาไทยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนที่สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้นจะมีสมรรถนะในการดำเนินชีวิตต่ำ ไม่เข้าถึงว่าความดีและจริยธรรมเป็นอย่างไร อยู่ร่วมกันไม่เป็น ความเอื้ออารีและเกื้อกูลกันเฉกเช่นมนุษย์พึงกระทำต่อกันลดและขาดหายไปมาก ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวไว้ว่าการศึกษาไทยเอา “วิชา” เป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอา “ชีวิต” เป็นตัวตั้ง ชีวิตเป็นผลจาการบูรณาการในทุกเรื่องทุกส่วน การจัดการศึกษาคงมีความผิดปรกติจึงไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์และมีการแยกส่วนที่วิชาแยกออกจากชีวิต ศ.นพ.ประเวศ วะสี ยังกล่าวโอกาสต่างๆ ไว้ว่า “ชีวิต คือ การอยู่รอด การอยู่ร่วม และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสัมพันธ์กัน” ซึ่งเหล่านี้ หากมองผ่านแนวคิดว่าด้วยสุขภาวะดังที่บัญญัติไว้ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 แล้ว จะสอดคล้องกับความหมายของสุขภาวะทางปัญญาและสังคม โดยเฉพาะหลักทางศาสนาทุกศานาเป็นแนวทางและวิธีการที่จะพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งสิ้น
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสุขภาวะตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ” ในวัยเด็กหากมีพัฒนาการทางสมองที่ดีและเรียนรู้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมจากการปฏิบัติจะเป็นการปลูกฝังจนพัฒนาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา และอุดมการณ์
การจัดการศึกษาในทัศนะอิสลามก็มีปรัชญาเช่นเดียวกันและได้มีการพิสูจน์จากการปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวัน ดังที่มีการสืบทอดและเน้นย้ำว่า การศึกษาในอิสลามไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์หรือทักษะจากชนรุ่นหนึ่งไปยังชนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ในอิสลามการศึกษามีความหมายที่กว้างและครอบคลุมทุกด้าน การศึกษาเป็นกระบวนการอบรมและบ่มเพาะสติปัญญา ร่างกายและจิตวิญญาณ เพื่อผลิตมนุษย์ที่สมบูรณ์ การศึกษาในทัศนะอิสลาม เป็นการศึกษาแบบบูรณาการ ทั้งวิชาศาสนาและวิชาการเข้าด้วยกัน การกลับสู่ระบบการศึกษาแบบอิสลามที่แท้จริง จำเป็นที่จะต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา ระบบการศึกษาใหม่ต้องเป็นแบบบูรณาการที่ทั้งสองระบบสามารถศึกษาด้วยกันอย่างมีกฏเกณฑ์ และทั้งสองระบบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ที่ไม่ควรมีการแยกวิชาศาสนาออกจากวิชาสามัญหรือแยกวิชาสามัญออกจากวิชาศาสนาเพราะตามทัศนะอิสลามไม่ได้หมายถึงการศึกษาวิชาอัลกุรอานหรือวิชาศาสนบัญญัติเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการศึกษาทุกสาขาวิชาที่สอนตามทัศนะของอิสลาม ทั้งนี้เพื่อการผลิตมนุษย์ที่สมบูรณ์ดังที่กล่าวมา
การบูรณาการการศึกษาที่สมบูรณ์แบบค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยากในสังคมปัจจุบัน เพราะหลักสูตร หนังสือ แบบเรียน วิธีการสอน ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของอิสลาม แม้ว่าจะสามารถปฏิบัติได้ในบางระดับ แต่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างรอบคอบ เพราะการบูรณาการที่หละหลวมจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตระหนักว่าหลักสูตรการศึกษาในอิสลามเป็นหลักสูตรบูรณาการ ความพยายามที่จะต้องบูรณาการการศึกษาจึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความสมัครใจและอาสาของผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจำนวน 4 แห่ง อันประกอบด้วยโรงเรียนดารุลอุนาโลมนิบงยารู โรงเรียนภัทรียาอนุบาล โรงเรียนสามัคคีธรรมวิทยา และโรงเรียนประทีปศาสตร์อิสมาอีลอนุสรณ์ ที่ได้มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาบูรณาการอิสลามและเห็นถึงประโยชน์ต่อการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็กที่มาศึกษาในโรงเรียน การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและความเข้าใจของผู้ปกครอง การให้ชุมชนมีบทบาทเป็นครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากวิถีชีวิตจริงของคนในชุมชน การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตของครูและครอบครัวที่เป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญต่อเด็ก ผู้ปกครอง และชุมชนที่ครูพำนัก เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ผู้บริหารโรงเรียนทั้งสี่แห่งมีความประสงค์ที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับผู้บริหารโรงเรียนที่มีความคุ้นเคยกันเพื่อร่วมสร้างต้นแบบการจัดการศึกษาบูรณาการอิสลามและสร้างการยอมรับในเครือข่ายจนเกิดกระแสการผลักดันในระดับของจังหวัดและประเทศต่อไป กอปรด้วย สสส.โดยสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน (สน.3) ได้ประสานให้มีการนำเอาเรื่องดีที่เป็นกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งและขับเคลื่อนให้เกิดการขยายผล จึงได้พัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ดังรายละเอียดที่กล่าวต่อไป
คำนิยามเชิงปฏิบัติการ
เพื่อความเข้าใจร่วมกันและมีความหมายที่ตรงกัน จึงได้ให้คำนิยามเชิงปฏิบัติการในอธิบายความหมายของคำหรือประโยคที่ใช้ ดังนี้
– การศึกษาบูรณาการอิสลาม หมายถึง การจัดการศึกษาที่นำเอาหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้เป็นปรัชญาออกแบบการจัดการศึกษาและกำหนดวิธีการในกระบวนการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดศรัทธายึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักศาสนา โดยนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย มาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน สอดคล้องตามหลักของศาสนาอิสลามและนำไปสู่การดำรงชีวิตในพหุสังคมได้อย่างเหมาะสม
– เครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลาม หมายถึง การรวมตัวกันของโรงเรียนหรือหน่วยงานอื่นที่มีแนวคิดในการสร้างสัมพันธภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดสิ่งดีๆ ในการวางแผนพัฒนาการศึกษาแบบบูรณาการด้วยหลักศาสนาอิสลามที่ว่าด้วยหลักของความศรัทธา สิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรม
– แนวทางจัดการศึกษาบูรณาการอิสลาม หมายถึง การออกแบบการจัดการศึกษาของแต่ละโรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยนำเอาหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้เป็นปรัชญาและวิธีการในการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดศรัทธายึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักศาสนา โดยที่ได้นำองค์ความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ มาเป็นเนื้อหาและออกแบบวิธีการดำเนินงานโดยใช้หลักการของศาสนาอิสลาม (ทั้งนี้การออกแบบและการจัดทำแนวทางการจัดการศึกษาแบบบูรณาการจะต้องมาจากการถอดบทเรียนจากประสบการณ์จากการดำเนินงาน ที่แสดงถึงแนวคิด รูปธรรม และวิธีการที่มีการปฏิบัติจริง)
– ฐานการเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ หมายถึง จุดหรือแหล่งรวบรวมความรู้ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติจริงของโรงเรียนหรือหน่วยงานอื่นที่มีการจัดการศึกษาบูรณาการอิสลามที่มีความชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับและมีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ที่สนใจ นอกจากนี้จะต้องมีบุคคลและสื่อที่จะสามารถถ่ายทอดแนวคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการนำไปปรับใช้ในพื้นที่ได้
– โรงเรียนเครือข่าย หมายถึง โรงเรียนที่ตกลงเข้าร่วมเป็นภาคีร่วมพัฒนากับเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลาม และใช้ฐานการเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ของเครือข่ายกระบวนการเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้การศึกษาบูรณาการอิสลามเป็นฐานการเรียนรู้ร่วมกัน และเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามได้เรียนรู้จากโรงเรียนเครือข่ายเพื่อนำความรู้มาปรับใช้และเติมเต็มในการพัฒนาการศึกษาบูรณาการ ทั้งนี้ โรงเรียนเครือข่ายจะมีการทำข้อตกลงความร่วมมือในการเป็นเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามในเครือข่ายและจะมีการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น “กลไกขับเคลื่อนการศึกษาแบบบูรณาการอิสลาม” ที่มีเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามเป็นตัวเทียบเคียง
– กลุ่มสาระการเรียนรู้ หมายถึง สาระหลักของการเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนาตามแนวคิดของการศึกษาบูรณาการอิสลามอย่างน้อย 1 หน่วยประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับอนุบาลและอย่างน้อย 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ ป.1-6 ที่แสดงให้เห็นวิธีคิดและกระบวนการในการนำความรู้ในเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กัน มาจัดระบบให้สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการการศึกษาบูรณาการอิสลาม
– ผู้จัดการศึกษาบูรณาการอิสลาม หมายถึง บุคลากรระดับบริหารโรงเรียนที่เป็นฐานการเรียนรู้และโรงเรียนเครือข่ายที่มีแนวคิดในการจัดการศึกษาบูรณาการตามหลักศาสนาอิสลามที่สามารถเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลามและสามารถจัดการศึกษาแบบบูรณาการอิสลามในโรงเรียนของตนเองได้
– ผู้จัดการเรียนรู้การศึกษาบูรณาการอิสลาม หมายถึง ครูหรือบุคลากรในโรงเรียนที่เป็นฐานการเรียนรู้และโรงเรียนเครือข่ายที่จัดกระบวนการเรียนการสอนตามแนวทางการศึกษาบูรณาการอิสลาม
ทุนของเครือข่ายการศึกษาบูรณาการอิสลาม
โรงเรียนดารุลอุโลมนิบงบารู เป็นโรงเรียนการศึกษาบูรณาการอิสลามที่เน้นการบริหารจัดการแบบอิสลามทุกมิติ โดยยึดหลักศาสนาเพื่อการจัดการและแก้ไขปัญหาในผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปรับวิธีคิดของครูให้มีความเข้าใจในหลักการและทิศทางการบูรณาการการศึกษาให้สอดคล้องตรงกัน กระทำผ่านการพัฒนาสมรรถนะทางด้านการบูรณาการจากหน่วยงานที่มีความชำนาญ และพัฒนาแนวคิดการบูรณาการผ่านโครงการเพื่อให้ครูได้มีความตระหนักและผ่านกระบวนการตรวจสอบจากผู้รู้เพื่อเสริมความเข้าใจในหลักของการบูรณาการ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์
โรงเรียนภัทรียาอนุบาล เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมที่พัฒนาการบูรณาการด้วยฐานของวิถีชุมชนและมีการนำใช้ทุนทางสังคมในพื้นที่มาช่วยเป็นกลไกในการสร้างกระบวนการบูรณาการแบบพี่ดูแลน้อง โดยเน้นการจัดฐานการเรียนรู้เป็น 2 ฐาน ระหว่างฐานการเรียนรู้เสริมทักษะชีวิต และเสริมวิถีอิสลามที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้วิถีชุมชน ผสมผสานประเพณีมุสลิม และกลมกลืนกับการศึกษาสามัญได้ โดยมีกระบวนการเตรียมครูผ่านนโยบายและการอบรม พร้อมทั้งเสริมแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการเข้าร่วมในกิจกรรม อีกทั้งการเตรียมเด็กโดยเน้นการร่วมระดมทุนและสร้างความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการกลุ่มเพื่อเข้าไปสู่ฐานของการเรียนรู้ และมีการเตรียมผู้ปกครองเพื่อให้เข้าใจการจัดการเรียนการสอนและให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรม
โรงเรียนสามัคคีธรรมวิทยา เน้นการสร้างและพัฒนาวิถีมุสลิม ควบคู่กับการสร้างสัมพันธภาพกับครอบครัว โดยมีการใช้กระบวนการสานสัมพันธ์และการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างครู เด็ก และผู้ปกครอง ซึ่งกิจกรรมของการศึกษาบูรณาการเน้นการสร้างผู้นำที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างครูกับเด็ก มีการสร้างกิจกรรมที่เป็นการเชื่อมระหว่างเด็กที่อ่านออกเขียนได้ให้เป็นแกนนำในการช่วยพัฒนาทักษะทางวิชาการ มีการจัดกิจกรรมหนุนเสริมตามหลักศาสนาอิสลาม อาทิ การละหมาด และมีการเตรียมความพร้อมของผู้ปกครองเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างจริยธรรมแก่เด็กในอนาคต
โรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์ เน้นการใช้ผู้นำเป็นฐานการขับเคลื่อนการ บูรณาการผ่านทางนโยบาย มีกระบวนการคัดเลือกครูที่ดำเนินวิถีชีวิตแบบมุสลิมที่ถูกต้อง สร้างบรรยากาศที่สอนตามวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ มีกระบวนการกลั่นกรองเนื้อหาตามประสบการณ์ของครูผู้สอนเพื่อนำไปสู่การบูรณาการในลักษณะของโครงการแบบบูรณาการให้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่หลากหลาย และสอดรับกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย
เป้าหมาย
ร่วมสร้างเครือข่ายโรงเรียนที่จัดการศึกษาบูรณาการอิสลามจนเกิดผลเชิงประจักษ์ต่อวิถีการดำเนินชีวิต ศักยภาพทางวิชาการของครูและผู้เรียน ชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมและมีความพึงพอใจ จนสามารถพัฒนาเป็นชุดความรู้ ว่าด้วยระบบบริหารจัดการโรงเรียนด้วยหลักการจัดการศึกษาบูรณาการอิสลามและกระบวนการจัดการการเรียนรู้ในสาระหลักของการเรียนรู้ จนเป็นที่ยอมรับและเกิดการขยายผลทั้งระดับแนวคิด การจัดการ และการปฏิบัติ อันเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของโรงเรียนในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง 3 ปี จำนวนอย่างน้อย 20 แห่ง และโรงเรียนในเครือข่ายได้รับการยอมรับจนเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ว่าด้วยการจัดการศึกษาบูรณาการอิสลาม
วัตถุประสงค์
1) เพื่อสนับสนุนกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพโรงเรียนที่เป็นฐานการเรียนรู้ให้มีความพร้อมด้านระบบบริหารจัดการและด้านกระบวนการการจัดการเรียนรู้บูรณาการอิสลามที่มีตัวอย่างการปฏิบัติจริง ให้มีความน่าสนใจ (attractive) และเมื่อถ่ายทอดความคิด แนวปฏิบัติ และผลที่เกิดต่อเด็ก ครู และผู้ปกครอง แล้วเกิดความท้าทายต่อผู้มาร่วมเรียนรู้ในการนำไปปรับใช้ในโรงเรียนตนเอง
2) เพื่อสนับสนุนโรงเรียนเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ การจัดการความรู้ให้เป็นระบบการเรียนรู้ร่วมกันและมีระบบการบริหารจัดการเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพและเป็นแบบอย่างได้
3) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโจทย์การวิจัยและดำเนินการวิจัยโดยครู เด็ก และผู้ปกครอง ในลักษณะการวิจัยจากงานประจำ (Routine to Research) และมีการนำใช้ในการปรับปรุงการจัดการศึกษาบูรณาการอิสลาม
โรงเรียนเครือข่ายการจัดการศึกษาบูรณาการอิสลาม
ลำดับ | ชื่อโรงเรียน | อำเภอ | จังหวัด |
1 | โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ | จะนะ | สงขลา |
2 | โรงเรียนประทีปธรรม มูลนิธิ | อ่าวลึก | กระบี่ |
3 | โรงเรียนนิด้าศึกษาศาสตร์ | ละงู | สตูล |
4 | โรงเรียนดารุลอันวาร์ | รือเสาะ | นราธิวาส |
5 | โรงเรียนบ้านยาแลเบาะ | รือเสาะ | นราธิวาส |
6 | โรงเรียนบ้านบาลูกา | รือเสาะ | นราธิวาส |
7 | โรงเรียนบ้านบลูกาฮิเล | รือเสาะ | นราธิวาส |
8 | โรงเรียนบ้านเจาะบาแน | มายอ | ปัตตานี |
9 | โรงเรียนพัฒนศาสตร์ | อ.ทุ่งยางแดง | ปัตตานี |
10 | โรงเรียนมัสยิดตะลุบัน | อ. สายบุรี | ปัตตานี |
11 | โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา | อ.สายบุรี | ปัตตานี |
12 | โรงเรียนจงรักษ์สัตย์ | ยะหริ่ง | ปัตตานี |
13 | โรงเรียนบ้านคูวอ | รามัน | ยะลา |
14 | โรงเรียนสุกัญศาสตร์ | เมือง | นราธิวาส |
15 | โรงเรียนอาลาวียะวิทยา | บันนังสตา | ยะลา |
16 | โรงเรียนท่าใหญ่ศึกษา | หาดใหญ่ | สงขลา |