ได้มีโอกาสรับชมสารคดีสั้นชุดนี้ในโทรทัศน์ครู “ปอเนาะต้นแบบในนจังหวัดชายแดนใต้” จนจบ ก็รุ้สึกคุ้นๆกับชื่อปอเนาะตาเซะ จึงลองไปสอบถามพี่ๆน้องๆ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม น้องๆก็บอกว่า ก็ปอเนาะที่พวกเราไปเก็บข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกกราดยิงของทหาร เมื่อปี 2550 ไง”
หลังจากนั้นก็ได้อ่านงานเขียนของโต๊ะกูเป็ง (อารีฟิน บินจิ) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่ทำให้ผู้อ่านเหมือนกับอยู่ในเหตุการณ์จริง เรียกได้ว่าใครอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวในช่วงระยะเวลาดังกล่าว คงต้องใช้ศัพท์ว่าถูกทางการเพ่งเล็งจนได้รับฉายาว่า “ปอเนาะสีแดง” แต่วันนี้พวกเขาไม่ได้นั่งอยู่เงียบๆ ปล่อยให้เหตุการณ์เงียบหายไปโดยสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบสถาบันปอเนาะ พวกเขาทำการสื่อสารกับสังคมโดยภาพรวม สร้างความเข้าใจกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ว่า ที่เขาระแวงกันนั่นไม่ได้มีอะไรเลย
“พวกเราจัดการศึกษาเพื่อสร้างคุณธรรมให้กับเยาวชน ให้พวกเขาเป็นคนดี” อุสมาน พูลา ครูใหญ่กล่าว
แล้วเยาวชนเหล่านี้จะออกไปทำร้ายคนได้อย่างไร วันนี้ปอเนาะ ตาเซะได้รับการยกย่องให้เป็น “ปอเนาะต้นแบบ” แล้วที่ถูกกราดยิง ถล่มปอเนาะในวันนั้น ใครจะออกมารับผิดชอบ
ผมนำเรื่องราวที่โต๊ะกูเป็งถ่ายทอดไว้ในศูนย์ข่าวอิศรา มาแนบไว้กับบทความนี้ด้วยครับ
4 ชั่วโมงระทึก ในปอเนาะตาเซะ อีกมุมมองที่แตกต่าง ความแปลกแยกที่ยังคงอยู่
อารีฟิน บินจิ
“ผมเสียใจที่ทหารกล่าวหาว่าลูกผมเป็น คนร้าย ผมทำงานรับใช้ประเทศชาติมากว่า 20 ปี พ่อผม อดีตกำนันตาเซะ ทำความดีมามาก ชื่อเสียงผม วงศ์ตระกูลของผม ถูกทำลายไม่มีความดีเหลืออยู่เลย”
ครูประสิทธิ์ กาสอ ครูโรงเรียนบ้านตาเซะ อำเภอเมืองยะลา ช่วยราชการเขตการศึกษา ๒ จังหวัดยะลา พูดกับพวกเรา ด้วยน้ำตานองหน้า
บ่ายวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๐ พวกเราพร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ของ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เดินทางไปถึงโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม หรือปอเนาะ อิสลามศาสน์ ดารุส สาลาม ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 3 ตำบลตาเซะ อำเภอเมือง ยะลา โดยมีโต๊ะครูมาหะมะ หรือบาบอมะ พูลา และชาวบ้านจำนวนหนึ่ง รอรับอยู่ที่หน้าบ้านพัก หลังจากได้แนะนำตัวครบทุกคนแล้ว ท่านบาบอมะ และนายอุสมาน บุตรชาย ต่างเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ต้นจนจบทั้งภาษาไทย และภาษามลายูพื้นเมืองตามถนัด สลับกันไป
“ตอนนั้น เป็นเวลาห้าโมงครึ่ง (17.30 น.) ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางทิศเหนือหลายนัด ติดต่อกัน เมื่อได้ยินเสียงปืน จึงสั่งให้ปิดประตูทางเข้าปอเนาะทันที เพราะเกรงว่าจะมีคนเข้ามาในโรงเรียน จะเป็นปัญหา” บาบอมะ เล่าพร้อมยกเหตุผล
“แต่ไม่นานก็มีเสียงร้องโวยวายอยู่หน้าประตู ตอนนั้นผมให้เด็กๆ เข้าอยู่ในห้องพักกันหมดแล้ว แต่ มีเด็กคนหนึ่ง ที่อยู่หน้าสหกรณ์(ร้านค้า) ใกล้กับประตู ร้องกลับมาว่าลูกครูดิง ลูกครูดิง ถูกยิง” (ครูดิงหมายถึงครูประสิทธิ กาสอ)
“ผมเห็นนายอาฟันดี ลูกเขยครูดิง (ครูประสิทธิ์ กาสอ) ยืนเกาะประตูทางเข้า โบกมือร้องโหวกเหวก ผมจึงสั่งเปิดประตู แล้วให้เข็นรถเข้ามาในโรงเรียน แล้วปิดประตูตามเดิม ขณะนั้นเสียงปืนที่ยิงรัวดังเข้ามาใกล้ทุกที ผมเห็นอาฟันดี และบุคคอรี บาดเจ็บเลือดไหลมากเพราะถูกยิง ผมจึงสั่งให้เอารถกระบะของผมออก นำคนทั้งสองไปส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด” บาบอเล่าโดยมีอุสมานฯบุตรชาย แปลเป็นภาษาไทยให้พวกเราเข้าใจ
“ไม่นานทหารแต่งชุดดำ ก็มาถึงหน้าประตู ยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัด ผมก็เดินออกไปพบ ทหารกลุ่มดังกล่าว มี ๒๐ กว่าคน สั่งให้ผมเปิดประตู และถามว่าคนร้ายหนีไปไหน เข้าไปในปอเนาะใช่ไหม ? ผมตอบว่า คนที่ถูกยิงนั้นไม่ใช่คนร้าย ได้ส่งไปโรงพยาบาลแล้ว แต่ทหารไม่เชื่อ ถามว่านี่ไงรถยังจอดอยู่ตรงนี้” บาบอมะ หมายถึงรถยนต์ที่ทหารชี้ไปนั้น คือรถยนต์กระบะของครูประสิทธิ์ ที่นายอาฟันดี กับนายบุคอรี ขับขี่มา และถูกทหารยิงระว่างทาง
“ทหารไม่เชื่อ สั่งให้ผมเปิดประตู ผมก็อธิบายว่าไม่มีคนร้ายในปอนาะ และคนเจ็บก็ส่งโรงพยาบาลแล้ว ทหารคนหนึ่งปีนกำแพงเข้ามา แล้วใช้ปืนยิงกุญแจประตูจนขาด แล้วเปิดประตู ทหารพรานพากันเข้ามาในโรงเรียนเต็มไปหมด แล้วแยกกันเข้าปิดล้อมทุกด้าน” บาบอมะ หยุดหายใจ และให้อุสมานฯแปลภาษาไทยให้เราฟัง
“ขณะนั้นเด็กนักเรียนอยู่ในบาลัย (ห้องโถงสถานที่สอนศาสนา ) ทหารเข้ามาที่บาลัย ยิงปืนขู่ สั่งให้เด็กนักเรียนทุกคนออกมายืนหน้าบาลัย แล้วถอดเสื้อ จากนั้นก็สั่งให้เด็กนักเรียนเกือบร้อยคน หมอบลงกับพื้นทุกคน” บาบอ ชี้บริเวณหน้าบาลัย
“เหมือนเหตุการณ์ที่ตากใบ ไม่ผิดเลย” อุสมานฯเสริมคำพูดของบาบอ
“มีทหารยืนคุมรอบๆ ตะโกนด่า พร้อมกับยิงปืนขึ้นฟ้าตลอดเวลา เอาเท้าเตะ ถีบเด็กนักเรียนที่เงยหน้า หรือขยับตัว พร้อมกับถามว่าคนร้ายหนีไปไหน ?” อุสมานฯเล่า
“ตอนนั้นบาบอ กับอุสมาน อยู่ที่ไหน แก้ปัญหายังไง?” เจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนฯถาม
“บาบอเป็นลมอยู่ในบ้าน ผมดูแลท่านอยู่ จนกระทั่ง ผู้กำกับมาถึง(พ.ต.อ.ภูมิเพชร พิพัฒน์เพชรภูมิ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองยะลา) ผมก็ให้ผู้กำกับเข้ามาในบ้าน ผู้กำกับช่วยเจรจากับทหาร จากนั้นทหาร จึงได้ยอมให้เด็กนักเรียนที่หมอบอยู่หน้าบาลัย เข้าไปในบาลัยได้” อุสมานเล่าเป็นภาษาไทย
“ขณะที่ทหารคุมนักเรียนอยู่ในบาลัย อีกกลุ่มหนึ่งก็ออกไปค้นปอเนาะที่พักนักเรียน ทุกหลัง ผมได้ยินเสียงปืนยิงปอเนาะ และเสียงเตะถีบประตู ดังมั่วไปหมด ทหารคนหนึ่งจะขึ้นไปค้นบนบ้านของบาบอ แต่ผู้กำกับห้ามไว้ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ก็ยังขึ้นไปบนบ้านขณะสวมรองเท้า ที่แย่ที่สุดทหารกลุ่มที่เข้ามาในบ้าน มีทหารที่เป็นมลายูหลายคน (หมายถึงทหารที่เป็นมุสลิม) บางคนปากมีกลิ่นเหล้าเหม็น แสดงว่า พวกเขากินเหล้ามาก่อน จึงพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง” อุสมานเล่า
“ผมเปิดสมุด เจอเบอร์โทรศัพท์ของผู้ว่า จึงโทรศัพท์บอกผู้ว่า ตอนนั้นผู้ว่าอยู่หาดใหญ่ ท่านบอกว่าจะสั่งให้รองผู้ว่า มาประสานให้ ต่อมาเมื่อรองผู้ว่ามาประสานเหตุการณ์ก็ค่อยดีขึ้น รองผู้ว่ามาพูดสักพัก แล้วรองผู้ว่า ก็กลับไป แต่ทหารก็ยังปิดล้อมอยู่ในปอเนาะ ทหารหน่วยอื่นๆพากันมาที่โรงเรียนมากขึ้นๆ”
“แล้วเหตุการณ์ยุติลงอย่างไรตอนไหนล่ะ” เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน ถาม
” ผู้กำกับ โทรศัพท์ไปถามที่โรงพยาบาล และ ยืนยันว่าคนเจ็บอยู่โรงพยาบาลจริง และทราบว่าทางผู้ว่า ได้ติดต่อกับท่านอารี (อารี วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ถึงเวลาประมาณ สี่ทุ่ม ทหารพรานก็ออกไปหมด”
“เด็กนักเรียนก็ไม่ได้กินข้าวเลยซิ ในคืนนั้น” เราถาม
“ไม่มีใครได้กินข้าวเย็น จึงต้องไปหุงข้าว กระทะใหญ่เลี้ยงกันตอนดึก พวกเราไม่ได้ละหมาด อาซาร์ (ก่อนค่ำ) และมักริบ(ตอนตะวันตกดิน) จนเวลาอีซา(แสงตะวันหมดแล้ว) แล้วจึงได้ละหมาด” บาบอ พูดบ้าง
“หลังทหารไปแล้ว พบว่าเงินสหกรณ์หายไปหมื่นกว่าบาท เงินของนักเรียนในปอเนาะหายไปคนละสี่ห้าร้อย บางคนหลายพันบาท พวกเขามาปล้นกันชัดๆ” อุสมานพูดพร้อมกับส่ายหน้า
“ปอเนาะถูกยิงเสียหายหลายหลัง ประตูหลังก็ถูกยิงสายยูขาด มัดยิดก็มีรอยถูกยิง ๒ นัด” ชาวบ้านคนหนึ่งพูด และชี้ไปทางมัสยิด
“ทหารไปตรวจค้นปอเนาะของผู้หญิง ด้านหลังบาลัย ลักเอาเงินในกระปุก รูปแพะที่ทางโรงเรียนได้รับจากโครงการสมเด็จพระเทพ (สมเด็จพระรัตนราชสุดา ฯ) แจกจ่ายให้พวกผู้หญิงออมเงิน และประตูปอเนาะผู้หญิงก็ถูกทำลายหลายหลังเหมือนกัน” อุสมานชี้มือไปทางที่อยู่ของผู้หญิง
ก่อนจบการเจรจา พวกเราก็แยกย้ายกันไปดูร่องรอยปอเนาะที่ถูกยิง ถ่ายภาพจนพอใจแล้ว ก็เดินทางไปเยี่ยมนายอาฟันดี ที่นอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลยะลา จากนั้นเราต่างแยกย้ายกันกลับ
นี่คือ เหตุการณ์ที่ได้รับฟังการบอกเล่ามาจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งแตกต่างไปจากการให้สัมภาษณ์สื่อของทางทหารโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น ความคาดหวังของผู้บัญชาการทหารบกที่จะให้อาสาสมัครทหารพรานซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวมุสลิม ได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชน แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงจะเป็นเพียงความคาดหวังลมๆแล้งๆ เพราะพวกเขาทำลาย ตัวเองจนสิ้นแล้วซึ่งศักดิ์ศรีของทหารพราน ครั้งแล้วครั้งเล่าในดินแดนแห่งนี้
“ในขณะเดียวกันผู้ก่อการร้าย ก็คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไร”
ที่มา ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
หัวข้อที่ต่อเนื่องกัน ทหารพรานกองทัพบก และวีรกรรมที่บ้านตาเซะ เหตุร้ายที่ทำท่าจะบานปลาย
แบบฟอร์มการวิเคราะห์รายการในโครงการโทรทัศน์ครู
ชื่อตอน C/3556/001 | Islamic Education_My Other School is a Madrasah | ||
กลุ่มสาระ | นวัตกรรมการเรียนการสอน_สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม | ระดับชั้น | ประถม |
ชื่อ-นามสกุลผู้วิเคราะห์ | ผศ. ดร. อรพิณ ศิริสัมพันธ์ | ||
ตำแหน่ง | |||
หน่วยงาน | คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร |
1. จุดเด่นของรายการ และ วิเคราะห์กลยุทธ์การสอน กลยุทธ์การบริหาร กลยุทธ์การแก้ปัญหาที่เป็น “แบบอย่างที่ดีของครู และ/หรือ ผู้บริหาร” ที่ปรากฏในรายการตอนนี้ โดยสรุปเป็นลำดับขั้นตอนให้ชัดเจน
กลยุทธ์การสอน
ก่อนที่ครูจะสอนให้นักเรียนเกิดความเชื่อหรือศรัทธา ครูจะต้องดำเนินการ ดังนี้
1. ครูจะต้องสอนภาษาของศาสนานั้นๆ ก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในคำสอนของศาสนานั้น ในตัวอย่างนี้เสนอศาสนาอิสลาม ครูจะต้องสอนภาษาอารบิค โดยเริ่มต้นจากการอ่านและเขียน
2. ครูต้องสอนให้นักเรียนอ่านและเขียนตาม เริ่มจากคำ และเป็นประโยคง่ายๆ ตามลำดับ
3. ครูอธิบายที่มาของคำ หรือแปลข้อความนั้นให้นักเรียนฟัง เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและศรัทธาในคำสอนนั้น
4. ในขณะที่ครูสอนภาษาอารบิค ครูได้สอนภาษาอังกฤษควบคู่กันไป จนนักเรียนสามารถพูดได้ทั้งสองภาษา
5. ครูนำนิทานมาอ่านให้นักเรียนฟัง และให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติ เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกความศรัทธา
6. ครูให้การเสริมแรงแก่นักเรียน โดยให้คำชมเชย
2. คำแนะนำในการประยุกต์กลยุทธ์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เหมาะสมสอดคล้องกับการศึกษาไทย
1. เป็นการแสดงการสอนแบบบูรณาการที่นักเรียนจะได้ทั้งภาษา เนื้อหา และเกิดความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาที่ครูไทยสามารถนำมาใช้ได้
2. สามารถนำมาประยุกต์การสอนภาษาไทยควบคู่กับภาษาอังกฤษไปพร้อมๆ กัน
3. นักเรียนสามารถร่วมแสดงออกโดยใช้บทบาทสมมติ จะทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้
3. เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การนำแบบอย่างที่ดีไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ
1. ครูจะต้องมีความรู้ทั้งด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสอน
2. ในการสอนแต่ละครั้ง จำนวนผู้เรียนไม่ควรเกิน 15 คน เพราะนักเรียนจะต้องฝึกทักษะการพูด การฟัง การอ่านและการเขียน
4. ข้อที่พึงระมัดระวังในการนำแบบอย่างนี้ไปใช้ในการสอนหรือ/และการบริหาร
ครูจะต้องร่วมกันวางแผนจัดเป็นหลักสูตรบูรณาการนอกกลุ่มสาระ เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีจุดประสงค์เดียวกันและนักเรียนไม่ต้องทำงานหนัก