รายงานโดย นายปรีชา เริงสมุทร์ รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาภาวะผู้นำ บัณฑิตวิทยาลัย บริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

คำนำ

ผู้บริหารสถานศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษา จะต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหาร จัดการ มีวิสัยทัศน์ในการบริหารการศึกษาให้ทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลง มีภาวะผู้นำ มีมนุษย์สัมพันธ์เป็นที่ยอมรับ ของผู้เกี่ยวข้อง และมีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทุกคนมีความรู้ ความสามารถ บุคลิกลักษณะ และคุณสมบัติตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพในยุคปฏิรูปการศึกษา ควรมีลักษณะที่สำคัญ คือ นักพัฒนา นักแก้ปัญหา นักตัดสินใจ นักประนีประนอม นักการฑูต นักวางแผน นักปกครอง และนักปราชญ์ ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นตัวแปรที่สำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษา เพราะผู้บริหารสถานศึกษาคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องเป็นตัวอย่างของการปฏิรูปปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้และการบริหารให้กับครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน

ฉะนั้นการเป็นผู้บริหารที่นั้นจะต้องประกอบไปด้วย การมีบุคลิกภาพที่ดี มีความรู้ดี มีวิสัยทัศน์ มีมนุษย์สัมพันธ์ มีภาวะผู้นำเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรมจริยธรรมบริหารจัดการดีเป็นผู้นำวิชาชีพ มีความสามารถพิเศษรอบด้าน ถ้าผู้นำของโรงเรียนมีประสิทธิผล จะสามารถสร้างความศรัทธา ความผูกพันและความพึงพอใจของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ให้เกิดกับโรงเรียนและผู้บริหารจึงจะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรวมพลังกันจัดการศึกษาของโรงเรียนได้อย่างมีคุณภาพจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและในที่สุดก็จะสามารถพัฒนาครู และนักเรียนเป็นคนมีคุณภาพ ของสังคมและประเทศชาติได้สืบต่อไป
รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาภาวะผู้นำทางการศึกษา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดประโยชน์ให้ท่านผู้ศึกษาและตัวของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ
นายปรีชา เริงสมุทร์
ผู้บริหารโรงเรียนประทีปธรรม มูลนิธิ
นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย บริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

รูปแบบภาวะผู้นำ
รูปแบบภาวะผู้นำโดยทั่วไปแล้วมีการจำแนกไว้หลายประเด็นความคิด จึงมีหลากหลายรูปแบบ การศึกษาภาวะผู้นำในบริบทที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานตามภารกิจขององค์การ ภาวะผู้นำของผู้บริหารเป็นความเชื่อของผู้บริหารที่ต้องการนำมาใช้เพื่อการนำองค์การนั้นสู่เป้าหมาย และการศึกษาผู้นำที่มีผลกระทบต่อผู้การปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานภายใต้การบังคับบัญชาด้วยเช่นกัน

1. ธรรมชาติของภาวะผู้นำทางการศึกษา

แคทซ์ และ คาห์น (Katz and Kahn, 1978) กล่าวถึงธรรมชาติและภาวะผู้นำที่มีความหมายต่อองค์การว่าประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ 1) ลักษณะของงานหรือตำแหน่ง 2) คุณลักษณะเฉพาะของบุคคล และ 3) แบบแผนพฤติกรรมที่กระทำในสภาพที่แท้จริง

แต่ในองค์การทางการศึกษา จะพบว่า ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่มีอำนาจสั่งการซึ่งอยู่ในตำแหน่งอย่างเป็นทางการแต่ก็อาจเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีอำนาจเหนือผู้อื่น และผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้นำก็อาจ จะไม่ได้ใช้อำนาจนั้นหรือไม่มีอิทธิพลต่อผู้อื่นก็ได้ ดังนั้น ภาวะผู้นำทางการศึกษาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบด้านตำแหน่ง พฤติกรรม หรือคุณสมบัติของผู้นำเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบด้านสถานการณ์และด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ

โทมัส (Thomas, 1988) และ เดย์ (Day, 1988) กล่าวว่า ภาวะผู้นำในสถานศึกษาเป็นหลักสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดการพัฒนาองค์การ ภาวะผู้นำทางการศึกษามีผลกระทบต่อองค์การทางการศึกษาอย่างเด่นชัด

เบนนิส (Bennis, 1989) กล่าวว่า ผู้นำทางการศึกษามีความสำคัญที่เป็นพื้นฐานอย่างน้อย 3 ประการ คือ

ประการแรก เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อประสิทธิภาพขององค์การ ความสำเร็จขององค์การขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้นำที่รับรู้ได้

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปทำให้เกิดความสำคัญของการมีหลักยึดเหนี่ยวและเป้าประสงค์นำทาง ผู้นำคือผู้ที่เข้ามาเติมให้เต็ม และ

ประการที่สาม โรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในระดับชาติ บทบาทหลักของผู้นำทางการศึกษาก็คือการแบ่งเบาภาระที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชน

2. รูปแบบภาวะผู้นำตามทฤษฎีภาวะผู้นำ
จากการศึกษาวิจัยได้จำแนกภาวะผู้นำตามคุณสมบัติที่เชื่อมโยงกับการนำองค์การ
2.1 รูปแบบภาวะผู้นำตามรูปลักษณ์ (Trait) ซึ่งมุ่งจุดหมายไปที่รูปลักษณ์ที่สง่างาม บุคลิกภาพท่าทางเป็นที่ประทับใจ มีลักษณะของผู้มีบุญและน่าเกรงขาม (The great person) รูปแบบภาวะผู้นำนี้ยังเป็นที่นิยมให้มีการฝึกลักษณะต่าง ๆ เพื่อการเข้าสังคม การเจรจา และการสื่อสาร มารยาททางสังคม รวมทั้งการแต่งกาย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกภายนอกที่ทำให้ผู้นำมีความแตกต่างจากผู้ตามเมื่อปรากฏกายต่อหน้าสารธารณชน แต่ยังเป็นที่สงสัยในศักยภาพในการนำองค์การสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 รูปแบบภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม (Behavioral leadership) ซึ่งมีความคิดว่าการภาวะผู้นำ คือ พฤติกรรมการควบคุมการทำงานและจัดการทรัพยากรให้สามารถใช้งานได้ ภายใต้ภาวะของผู้นำนี้ มีการศึกษา ของมิชิแกน และโอไฮโอ เสตท ซึ่งจากการศึกษาที่พยายามจะชี้ให้เห็นชัดเจนว่าภาวะผู้นำแบบใดจะให้ผลดีต่อการทำงาน จากการสัมภาษณ์ คนงานที่มีศักยภาพในการทำงานสูงและคนงานที่มีศักยภาพในการทำงานต่ำ ผลลานวิจัยพบว่า หัวหน้างานมุ่งคนเป็นศูนย์กลางจะมุ่งความสนใจให้ค่าตอบแทนด้วยสวัสดิการ ในทางตรงกันข้าม หัวหน้างานที่มุ่งงานเป็นสำคัญก็จะมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลักเช่นกัน แต่จากการศึกษาพบว่า การมุ่งคนเป็นหลักทำให้ได้งานมากกว่าการมุ่งงานเป็นหลัก ซึ่งผลการศึกษานี้นำมาซึ่งการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาต่อมาพบว่า ความสมดุลของหัวหน้างานในทั้งด้านทำให้เกิดประสิทธิผลในการทำงานมากที่สุด
2.3 ภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ (Contingency leadership) กล่าวว่าการปฏิบัติงานของกลุ่มที่มีประสิทธิผลขึ้นอยู่กับความเหมาะสมระหว่าง รูปแบบปฏิกิริยาความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม และสถานการณ์ขององค์การ ซึ่งเป็นการพิจารณาทั้งปัจจัยภายนอกและภายในองค์การซึ่งผู้บริหารองค์การต้องควบคุมและแก้ไข

1) ภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ของ ฟีดเลอร์ (Fiedler 1971) กล่าวถึง รูปแบบภาวะผู้นำมีความสำคัญต่อสถานการณ์ ดังนั้นรูปแบบของผู้นำต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ รูปแบบของการนำ ได้แก่ 1) การนำด้วยความสัมพันธ์กับการจูงใจ 2) การนำด้วยงานกับแรงจูงใจ 3) การนำด้วยเสรีภาพทางสังคม ส่วนสถานการณ์ของการนำ ได้แก่ 1) สถานการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับสถานการณ์ 2) สถานการณ์ด้านโครงสร้างงาน 3) สถานการณ์ด้านอำนาจของตำแหน่ง
2) ภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ของ เฮอร์เซ และ บลังชาร์ด (Hersey and Blanchard) กล่าวว่า ผู้ตามเป็นปัจจัยที่สำคัญของสถานการณ์ และเป็นสิ่งที่ตัดสินพฤติกรรมของผู้นำ ตามระดับความพร้อมของผู้ไต้บังคับบัญชาซึ่งมีความแตกต่างกันแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1) มีความสามารถ มีทักษะ 2) มีความเต็มใจและมุ่งมั่น ส่วนรูปแบบของการนำมี 4 ประการ คือ 1) นำโดยการบอกกล่าว 2) นำโดยการขายความคิด 3) นำโดยการมีส่วนร่วม 4) นำโดยการมอบหมายงาน
3) ภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ของ วรูม เยตตัน จาโก (Vroom Yetton Jago) เป็นภาวะผู้นำเชิงวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อการตัดสินใจ โดยยึดหลักของการตัดสินใจ ดังนี้ 1) คุณภาพของการตัดสินใจ 2) การยอมรับการตัดสินใจ 3) การมุ่งความสำคัญที่การพัฒนาพนักงาน 4) การมุ่งความสำคัญที่เวลา ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบของการนำ ได้แก่ 1) รูปแบบการนำแบบมีส่วนร่วมในการนำ 2) รูปแบบการนำแบบตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์ปัญหา เช่น คำถามตามความต้องการของคุณภาพ (Quality requirement) รูปแบบคำถามเพื่อต้องการความร่วมใจ. (Commitment requirement) คำถามที่ผู้นำต้องการแสวงหาข้อมูล (Leaders’ information requirement) คำถามที่เป็นโครงสร้างของปัญหา คำถามที่ต้องการให้ลูกน้องมีส่วนร่วม คำถามที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คำถามเพื่อสลายความขัดแย้ง คำถามที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อง และ 3) รูปแบบการนำแบบให้ทางเลือกเพื่อนำมาสู่การตัดสินใจ
2.4 ภาวะผู้นำที่มีความสามารถพิเศษ (Charismatic Leadership) ภาวะผู้นำที่มีความสามารถพิเศษคือ ภาวะที่เกิดจากความสามารถพิเศษส่วนตัวของผู้นำที่มีผลอย่างยิ่งต่อผู้ตาม เช่น มีลักษณะที่สร้างแรงบันดาลใจให้บุคคลเข้าร่วมมือในการทำงาน จะมีลักษณะ ความน่าเกรงขาม ความน่าเคารพนับถือ ก่อให้เกิดความจงรักภักดี ให้ความรู้สึกว่าสามารถพึ่งพึงได้ ทำให้เกิดอำนาจในตัวผู้นำ 3 ประการ ได้แก่ 1) อำนาจจากความเชี่ยวชาญ 2) อำนาจจากการอ้างอิง 3) อำนาจจากการมีส่วนร่วมในงาน
2.5 ภาวะผู้นำการปฏิรูป (Transformational Leadership) เป็นภาวะผู้นำที่อยู่เหนือการนำในระดับปกติประจำวัน ภาวะผู้นำการปฏิรูปจะเกิดขึ้นเมื่อผู้นำเริ่มปรับความคิดเกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้ตามให้กว้างขึ้นและยกระดับขึ้นโดยการให้เกิดความตระหนักถึงจุดประสงค์ และพันธกิจของกลุ่ม และพยายามทำให้ผู้ตามสามารถเข้ากันได้เพื่อจะได้ยกระดับประโยชน์ส่วนตนให้เป็นประโยชน์ของกลุ่ม ภาวะผู้นำการปฏิรูป ประกอบด้วยมิติ 4 ด้าน คือ ด้านความสามารถพิเศษ (Charismatic) ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ด้านการรู้สถานการณ์อย่างชาญฉลาด (Situational Intellectual) และ ด้านการรู้จักพิจารณารายบุคคล (Individualized Consideration)
ภาวะผู้นำที่มีการนำมาเปรียบเทียบ กับภาวะผู้นำการปฏิรูป คือ แบบปฏิบัติการ (Transactional Leadership) ซึ่งเป็นภาวะผู้นำที่ปฏิบัติงานตามกิจวัตรที่เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จในแต่ละวันกับผลที่จะได้รับ ระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้อง การแลกเปลี่ยนอาจจะเป็นการให้รางวัลเฉพาะเรื่อง เป็นต้น
ในแต่ละรูปแบบที่มีการจัดกลุ่มเป็นทฤษฎีนั้น ในระยะแรกภาวะผู้นำยึดถือของรูปลักษณ์เป็นความสำคัญแต่ต่อมาพบว่ารูปลักษณ์ภาวะผู้นำแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายประสิทธิภาพของงานได้ ดังนั้นการวิจัยต่อมาจึงแตกแขนงการศึกษาไปสู่การศึกษาพฤติกรรมผู้นำและพฤติกรรมตอบสนองของผู้ตามทั้งในด้านอารมณ์และการกระทำ แต่ภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรมก็ไม่สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ดังนั้น ภาวะผู้นำตามสถานการณ์จึงศึกษาวิธีการนำของผู้นำในสภาพการณ์ที่แตกต่างกัน ด้วยหลักการจัดการด้วยเงื่อนไขตามสถานการณ์และการจัดระบบภาระงานตามบทบาทและหน้าที่ชัดเจนให้แก่พนักงาน ซึ่งพบว่ายังไม่สามารถจุดประกายความกระตือรือร้นในการทำงานอย่างมีชีวิตและจิตใจได้หรือทำให้เกิดนวัตกรรมการทำงานแบบใหม่ที่จำเป็นในยุคโลกาภิวัฒน์ ดังนั้นภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความสามารถพิเศษที่เร้าใจให้ผู้ตามเกิดความใส่ใจและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของงานความสำเร็จของงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความภาคภูมิใจร่วมกันก็เป็นแนวคิดที่ทำให้ผู้นำเกิดการตื่นตัวและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารงาน

3 รูปแบบของภาวะผู้นำทางการศึกษา

ภาวะผู้นำทางการศึกษามีรูปแบบที่แตกต่างไปจากภาวะผู้นำขององค์การอื่นๆ เพราะการบริหารการศึกษาเป็นรูปแบบการบริหารที่เกี่ยวข้องกับความชำนาญการและทักษะในการจัดการด้านการศึกษา นอกจากนี้ผู้นำทางการศึกษาจะต้องมีปรัชญาของการจัดการศึกษาที่ตอบสนองการพัฒนาเยาวชนเพื่อสังคมและประเทศชาติ การจะนำองค์การทางการศึกษาไปสู่ความสำเร็จได้จึงต้องขึ้นอยู่กับแนวทางในการบริหารจัดการเรียนการสอน ในวงการการศึกษาพบว่า รูปแบบภาวะผู้นำที่มีความหมายสำหรับการพัฒนาผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอน ได้แก่

• ภาวะผู้นำแบบร่วมแรงร่วมใจ (Collaborative leadership) ของ เทลฟอร์ด (Telford)
• รูปแบบภาวะผู้นำแบบนักบริการ (Servant leadership) ของกรีนลีฟ (Greenleaf)
• รูปแบบภาวะผู้นำแบบหุ้นส่วน (Share holder leadership) ของ บล็อก (Block)
• รูปภาวะผู้นำแบบเพื่อนแท้ (True good friend leadership) ของสุภัททา ปิณฑะแพทย์ (สุภัททา ปิณฑะแพทย์, 2546, 2003) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการประสานงานของผู้นำด้านการศึกษาที่มีศูนย์กลางของการพัฒนาอยู่ที่ผู้เรียน

3.1 รูปแบบภาวะผู้นำแบบร่วมแรงร่วมใจ (Collaborative leadership) เทลฟอร์ด (Telford,1996) ได้ทำการศึกษาผู้นำทางการศึกษาที่สามารถพัฒนาระบบการทำงานของโรงเรียนสู่การบริหารจัดการให้แนวคิดว่าผู้นำทางการศึกษาไม่ใช่ผู้ที่จะบริหารจัดการองค์ความรู้ได้เสมอไป ผู้ที่ทำให้หน้าที่จัดการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียน คือ ผู้สอน การบริหารจัดการโรงเรียนจึงต้องเข้าใจบทบาทของผู้สอนและผู้เรียน บทบาทของผู้นำในฐานะผู้บริหารที่ส่งผลให้เกิดการเรียนการสอนที่บรรลุเป้าหมาย คือ ผู้นำที่มีคุณลักษณะของนักการศึกษามากกว่านักบริหารจัดการที่ต้องยึดถือกฎระเบียบที่เคร่งครัด การศึกษาภาวะผู้นำแบบร่วมแรงร่วมใจของ เทลฟอร์ด ยึดกรอบความคิดและทฤษฎีการบริหารจัดการของ โบล์แมน และ ดีล (ฺBolman and Deal) ที่จัดกรอบการบริหารเป็น 4 ด้าน คือ 1) ด้านโครงสร้าง (Structural) 2) ด้านการเมือง (Political) 3) ด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human resource) และ 4) ด้านสัญลักษณ์ (Symbolic)

3.2 รูปแบบภาวะผู้นำภาวะผู้นำนักบริการ (Servant leadership) ของ กรีนลีฟ (Greenleaf, 1995, pp. 1-7) เป็นรูปแบบของผู้นำที่เน้นการให้การบริการผู้อื่น พนักงาน ลูกค้าและชุมชนเพื่อช่วยกันสร้างอำนาจการนำทางการศึกษา ผู้นำที่มีความเชื่อในเรื่องของการบริการนั้นต้องเกิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในอย่างเป็นธรรมชาติที่นำไปสู่การให้บริการและต้องมีความเชื่อว่าการให้บริการเป็นความสำคัญอันดับแรก การทดสอบว่าการบริการนั้นมีประสิทธิภาพ คือพิจารณาว่าการให้บริการนั้นทำให้บุคคลพัฒนาขึ้น ในขณะที่ได้รับการบริการบุคคลนั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น มีอิสระเพิ่มขึ้น มีการพึ่งพาตนเองได้มาขึ้น และพวกเริ่มที่จะกลายมาเป็นผู้ให้บริการมากขึ้น คุณสมบัติ 10 ประการที่การนำไปสู่การเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำแบบผู้ให้บริการ ได้แก่ 1) การฟัง 2) การมีความเห็นใจ 3) การเยียวยา 4) การตระหนักรู้ 5) การชักจูง 6) การมีความคิดรวบยอด 7) การมองเห็นภาพ 8) การดูแล 9) การพร้อมร่วมใจ 10) การสร้างชุมชน ภาวะผู้นำแบบให้บริการนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการสนับสนุนให้งานด้านการบริหารการศึกษาเพื่อเป็นการบริหารเพื่อการเรียนการสอนจำเป็นต้องได้รับการบริการจากผู้นำและให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดความคิดอิสระ สร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ

3.3 รูปแบบภาวะผู้นำแบบหุ้นส่วน (Share holder leadership) ของ บล็อก (Block, 1993) เป็นรูปแบบการนำแบบเป็นหุ้นส่วนก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพราะการบริหารเช่นนี้ทำให้ทุกคนมีภาวะผู้นำที่เท่าเทียมกันฐานะหุ้นส่วนระหว่างผู้นำกับกลุ่มสมาชิกด้วยความสัมพันธ์เชื่อมโยงในแนวทางที่ทำให้อำนาจระหว่างกันอยู่ในภาวะที่สมดุลในการบริหารด้านการศึกษารูปแบบของการความคิดของ บล็อก ในการกำหนดภาวะผู้นำในรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วนต่อกันเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การมอบอำนาจและการทำงานเป็นทีม ในการบริหารจัดการลักษณะของการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนมีความสำคัญในด้านการบริหารการศึกษา เนื่องจากการศึกษาเป็นงานพัฒนาผู้เรียนดังนั้นการออกแบบการจัดการเรียนการสอนมุ่งไปสู่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในตัวผู้เรียนอย่างความเป็นอิสระทางวิชาการ ลักษณะที่จำเป็นของภาวะผู้นำแบบเป็นหุ้นส่วนต่อกัน ได้แก่

– การสร้างยุทธศาสตร์ในการสนทนาการแลกเปลี่ยนจุดมุ่งหมาย (Strategic conversation) ในการเป็นหุ้นส่วนกันนั้น สมาชิกทุกคนจะมีความรับผิดชอบในการให้ความหมายของวิสัยทัศน์และคุณค่าด้วยการสนทนากันในทุกระดับ และมีผู้นำเป็นผู้ทำหน้าที่นำทุกคนให้มาเกาะเกี่ยวกันในภาพกว้างของวิสัยทัศน์

– การให้อิสระทางด้านความคิด (Freedom of choices) การให้ข้อคิดที่แตกต่าง ให้ทุกคนใช้สิทธิในการออกความคิดเห็น ในความเชื่อที่ว่าคนเราอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นการมีความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเสียง ๆ หนึ่งที่ควรสนใจ

– การสร้างความน่าเชื่อถือร่วมกัน (Accountability)ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ละคนสร้างความน่าเชื่อถือต่อความสำเร็จและความล้มเหลวร่วมกัน

– การมีความบริสุทธิ์ใจต่อกันอย่างสมบูรณ์ (Mutual trust) ต้องพูดความจริง เมื่อมีการกระจายอำนาจออกไปทุกคนต้องพูดความจริงเพื่อที่จะทำให้ความรู้สึกไม่มั่นคงลดน้อยลง

3.4 ภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic leadership) จากการศึกษาภาวะผู้นำที่สามารถนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กรได้อย่างประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนในภาพรวมของเกสตัลท์ที่จะสร้างให้สถาบันการศึกษาเป็นสังคมของการเรียนรู้ ความสามารถของผู้นำที่มียุทธศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่การเรียนรู้เสมือนจริงได้เกิดขึ้นในโลกของการศึกษา ผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ จากการสัมภาษณ์ของตัวผู้นำ และจากการรับรู้ของผู้บริหารและคณาจารย์ในสถาบันของตนจะสามารถทำให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้นำภายใต้แนวคิดและการปฏิบัติของ คาล์ดเวลล์ (Caldwell, 2000) ซึ่งได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 5 ประการ ดังนี้
1. การมีวิสัยทัศน์ของผู้นำและการได้รับการยอมรับว่ามีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นความสำคัญของการ จัดการศึกษาเพื่อมวลชนเพื่อการพัฒนาประเทศ
2. ด้านการสื่อสารข้อมูลและแนวคิดนั้น ผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ ได้อย่างดี ตลอดจนต้องสร้างช่องทางในการสื่อสารให้หลากหลายเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ให้เด่นชัด โดยใช้ ยุทธศาสตร์การสื่อสาร (Strategic conversation)

3. ด้านการร่วมมือ การปฏิบัติต่อกันก่อให้เกิดความร่วมมือหรือขัดแย้งได้เท่า ๆ กัน การพูดที่ แสดงความเป็นกันเองมีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างเครือข่ายของการทำงาน การแสดงความอ่อน น้อมต่อกัน ในบางวัฒนธรรมการแสดงออกแบบญาติพี่น้องเป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือกันอยู่
4.การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาและมีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการ ของชุมชนอย่างแท้จริง สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ให้ชุมชนมีความ เชื่อถือในคุณภาพของการจัดการศึกษาและให้สถาบันเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนได้
5.การควบคุมดูแลและการประเมินคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนและบริการให้บริการทาง การศึกษาอย่างมีคุณภาพจะต้องมีการประเมินคุณภาพของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบ การเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนด้วยระบบการประเมินแบบครบวงจร การประเมินต้องมี จุดมุ่งหมายที่ชัดเจน คือ เพื่อการพัฒนาให้การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพและทันต่อ เหตุการณ์

3.5 รูปแบบภาวะผู้นำแบบเพื่อนแท้ (KaLaYaNaMiTr; True good friend leadership) ของสุภัททา ปิณฑะแพทย์ (2003) ในวงการการศึกษานั้น การทำงานเป็นการสร้างคุณค่าเพื่อการพัฒนาคน ผลกำไร คือ การสร้างคนให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวทันโลกในการทำงาน รูปแบบพฤติกรรมผู้นำที่นำความสำเร็จในการบริหารงานคือรูปแบบที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพ ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันมีให้ความช่วยเหลือสนับสนุนและมีความจริงใจต่อกัน เอื้ออาทร มีมิตรภาพที่กลมเกลียวกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกันนำไปสู่การบริหารจัดการในยุคที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคข้อมูลข่าวสาร คุณลักษณะสรุปของภาวะผู้นำในฐานะเพื่อนแท้เมื่อนำมารวมกลุ่มพฤติกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้ มีความรู้ทักษะและความสามารถ (K = Knowledge) ให้ความรักใคร่และเป็นมิตรเอื้ออาทร (L= Loving care) ทำให้เกิดผลตอบแทนตามผลลัพธ์ (Y = Yield) ให้การสนับสนุนที่จำเป็น (N= Need) ยึดถือทางสายกลาง (M= Middle way) สร้างการทำงานเป็นทีม (T=Team) การพัฒนาให้เกิดภาวะผู้นำในรูปแบบนี้จะต้องมีฐานของการพัฒนามาจากภาวะผู้นำแบบธรรมะของ พระธรรมปิฎก ประยุทธ ปยุตโต ซึ่งเป็นที่มาของฐานอำนาจ 4 ประการ คือ ฐานอำนาจที่เกิดจากความฉลาดรอบรู้ (Wisdom Power) ฐานอำนาจที่เกิดจากความพยายาม (Effort Power) ฐานอำนาจที่เกิดจากความเมตตา (Kindliness Power) และฐานอำนาจที่เกิดจากการไม่ประพฤติผิด (Faultiness Power)

3.6 รูปแบบภาวะผู้นำแบบประสานให้พากันไป พระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตโต. 2540 หน้า 9-12) กล่าวว่า เป็นรูปแบบที่ใช้ความสัมพันธ์แบบประสานตัวระหว่างผู้นำและผู้ร่วมที่ไปด้วย การประสานตัวกันมีลำดับขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 เริ่มต้นด้วยการที่ตนเองต้องมีคุณงามความดี ความรู้และความสามารถเป็น องค์ประกอบพื้นฐานในการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่คน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในตัวผู้นำที่ เชื่อว่าผู้นำจะสามารถแก้ปัญหา
ขั้นที่ 2 ผู้นำจะต้องเริ่มทำให้ผู้ร่วมไปด้วยเกิดความมั่นใจในตนเองว่ามีศักยภาพ มีทุนแห่งความสามารถที่จะเอามาปรับจัดและพัฒนาให้สามารถทำกิจการงานได้สำเร็จ คือ สามารถเข้าร่วมไปด้วยกันได้ให้มีความมั่นใจว่าจะร่วมไปด้วยกันได้
ขั้นที่ 3 ช่วยให้ผู้ร่วมไปด้วยกันประสานกันเอง คือชักนำให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกันทั้งประสานมือและประสานใจซึ่งมีความสำคัญในการที่จะอยู่ร่วมกัน ซึ่งต้องการความกลมเกลียว มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมจิตร่วมคิดร่วมใจซึ่งเป็นหลักใหญ่ที่ต้องการหลักธรรม
ขั้นที่ 4 ประสานคนกับสิ่งที่จะทำ หรือประสานคนกับงานนอกจากจะให้เขามั่นใจในตนเองแล้วต้องสร้างความมั่นใจในการงานด้วยหรือสิ่งที่จะทำด้วย ว่าสิ่งนี้ดีแน่ งานนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สุขตามที่มุ่งหมายอย่างแท้จริง สร้างให้เขาเกิดความมั่นใจในคุณค่าของงานจนทำให้อยากทำและรักงานที่ทำซึ่งจะนำไปสู่ความตั้งใจทำงาน
ขั้นที่ 5 ประสานความตั้งใจในการทำงานให้เกิดกำลังใจในการทำงาน คือ ทำให้เกิดเป็นพลังใจที่ทำให้มีการขับเคลื่อน เกิดความกระตือรือร้นและตื่นตัวอยู่เสมอ
ขั้นที่ 6 ประสานประโยชน์สุขแก่คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือคนที่ร่วมไปด้วยกัน ดังนั้นผู้นำต้อง พยายามให้คนที่ร่วมงานร่วมอยู่ได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่แต่เพียงให้เขาสละกำลังร่วมทำงานแต่จะต้องหาวิธีการส่งเสริมสนับสนุนเอื้อโอกาสให้เขาได้พัฒนาให้เกิดความเจริญแก่ตนเองซึ่งจะเป็นผลย้อนกลับทำให้มาสู่องค์การเพราะเมื่อเขาเก่งขึ้น ดีขึ้น ก็จะทำงานได้ผลดีขึ้น มีความสุขมากขึ้นมีชีวิตที่ดีงามบรรลุผลประโยชน์อย่างแท้จริง

รูปแบบภาวะผู้นำของ พระธรรมปิฎกนี้เป็นภาวะผู้นำที่นำหลักธรรมที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เพื่อให้มนุษย์มีความสุขในการทำงานและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนให้แก่ชีวิตด้วย เป็นการให้ผู้นำสร้างความศรัทธาและความเชื่อต่อผู้นำและต่อผู้ร่วมไปด้วยกันจึงเป็นรูปแบบที่สร้างความสมดุลต่อภาวะผู้นำและผู้ตาม

รูปแบบของความเป็นผู้นำทางการศึกษาอาจต้องมีการผสมผสานกับรูปแบบภาวะผู้นำแบบต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการนำสถาบันการศึกษาให้ประสบความสำเร็จก้าวหน้าและเป็นที่น่าเชื่อถือ ผู้นำทางการศึกษา คือ ผู้นำของผู้ใต้บังคับบัญชา นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชน การเป็นผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือจะสามารถนำการพัฒนามาสู่เยาวชนและบุคคลในชุมชนได้

4. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาวะผู้นำ
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตโต, 2540) กล่าวว่า ภาวะผู้นำนั้นพูดด้วยภาษาชาวบ้านแปลง่าย ๆ ว่า ความเป็นผู้นำนั่นเอง สต็อกดิลล์ (Stogdill, 1974) กล่าวว่า ความหมายของความเป็นผู้นำนี้มีมากมายเทียบเท่ากับจำนวนผู้คนที่พยายามจะสรรหาความหมายของคำนี้ และหลาย ๆ คนก็มีความคิดเห็นว่า ไม่มีความหมายใดเลยที่จะเป็นความหมายที่สมบูรณ์ในการที่จะอธิบายคำว่า ภาวะผู้นำนี้ได้ จึงกล่าวได้ว่าความหมายชองถาวะผู้นำน่าจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังที่ เนเธร์คอต (Nethercote, 1998) วิจารณ์ว่า ภาวะผู้นำเพียงรูปแบบเดียวไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกสถานการณ์ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบของภาวะผู้นำตามไปด้วยเพื่อประสิทธิภาพตามความเหมาะสม ดังนั้นความหมายของคำว่าภาวะผู้นำจึงมีมากมายแตกต่างกันไปตามการวิจัยของนักวิชาการที่มุ่งประเด็นไปที่องค์ประกอบที่มีความซับซ้อนที่เป็นเงื่อนไขของมนุษย์

4.1 ความหมายของผู้นำและภาวะผู้นำ
คำว่า ผู้นำ (Leader) และภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นคำที่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อมีผู้นำก็ต้องมีภาวะผู้นำของคนนั้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของความเป็นผู้นำที่อยู่ในตนเองที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกสัมผัส การนำเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผินำจึงต้องเป็นผู้ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตนเอง ที่สร้างความโดดเด่นในกลุ่ม ทำให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มที่จะให้ความไว้วางใจและเชื่อใจว่าสามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จ ทำให้ได้รับความร่วมมือและที่นอกเหนือไปจากนั้นคือการได้รับความเคารพนับถือ
ผู้นำ หมายถึง บุคคลในกลุ่มที่ได้รับมอบหมายให้กำกับและประสานงานให้กิจกรรมของกลุ่มมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งผู้นำ อาจเป็นผู้ที่อาจได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งหรือเป็นผู้ที่แสดงตัวเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในกลุ่มเพื่อที่จะกำกับและประสานงานที่จะนำไปสู่เป้าหมายด้วยพลังของกลุ่ม (Fiedler and Garcia, 1987)
ส่วน ชลอ ธรรมศิริ (2535) ได้กล่าวถึง ผู้นำ ในความหมายของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยงานภายในองค์การ แต่ท่านย้ำว่าต้องเป็นบุคคลที่มีบุคคลภายในหน่วยงานของตนยอมรับนับถือและเชื่อฟัง ปฏิบัติงานตามที่ผู้นำต้องการ ในแต่ละหน่วยงานจะต้องมีผู้นำแต่ละระดับอยู่เสมอ เพราะถ้าไม่มีแล้วหน่วยงานนั้นจะขาดระเบียบวินัย ไม่มีบุคคลที่รับผิดชอบต่อเป้าหมายที่จะทำงานอย่างจริงจัง และขาดกระบวนการในการวินิจฉัยสั่งการแก้ปัญหา
สำหรับความหมายของคำว่า ภาวะผู้นำ นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นพฤติกรรมการนำของผู้นำที่ทำให้เกิดการปฏิบัติการที่สร้างความเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้นในองค์กรตามทิศทางที่กำหนดไว้ ภาวะผู้นำ จึงเป็นศิลปะในการทำให้เกิดอิทธิพลในการจูงใจผู้อื่นให้ร่วมปฏิบัติงานเพื่อให้สำเร็จตามความมุ่งหมาย (Tead, 1935)
ภาวะผู้นำ หมายถึง การปฏิบัติงานของผู้นำเพื่อทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย ความสำเร็จของกลุ่มเป็นเครื่องบ่งชี้ประสิทธิภาพของการเป็นผู้นำ (Fiedler, 1971)
ภาวะผู้นำ หมายถึง อำนาจการนำที่เหนือกว่าผู้อื่นและอยู่เหนือกว่าการคล้อยตามที่เป็นไปตามกลไกด้วยทิศทางที่ถูกกำหนดไว้ประจำองค์การ (Katz and Kahn, 1978)
ภาวะผู้นำ หมายถึง กระบวนการของการมีอิทธิพลระหว่างผู้นำและกลุ่มผู้ที่เป็นผู้ตามรนำกลุ่มไปสู่เป้าหมาย (Hollander, 1978)
ภาวะผู้นำ เป็นความสามารถผู้นำที่จะสามารถสื่อสารวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ให้ความหมายที่แสดงออกถึงคุณค่าและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมภายในองค์การเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ (Richards & Engle, 1986)
ภาวะผู้นำ เป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมของบุคคลซึ่งมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น(Cherrington, 1989)
ภาวะผู้นำ เหมือนกับความงาม คือ ยากแก่การบรรยายหรือให้คำอธิบาย แต่เราจะรับรู้ได้เมื่อเราได้พบเห็นและได้สัมผัส (Bennis, 1989)
ภาวะผู้นำ หมายถึง กระบวนการที่ผู้นำกำหนดเป้าหมายที่มีความหมายต่อการชี้ทิศทางอย่างชัดเจนที่ทำให้เกิดความพยามยามของกลุ่มโดยรวมและพร้อมที่จะพยายามผลักดันให้เกิดผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย (Jacobs & Jaques, 1990)
ภาวะผู้นำ หมายถึง ความสามารถของผู้นำที่จะก้าวออกมานอกกรอบวัฒนธรรม เพื่อที่จะเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการขององค์การให้เกิดการปรับตัวได้มากขึ้น (Schein, 1992)
ภาวะผู้นำ หมายถึงกระบวนการที่ผู้นำทำให้ผู้คนในองค์การตระหนักถึงสิ่งที่จะต้องกระทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้กับองค์การ (Drath & Palus, 1994)
สำหรับความหมายของผู้นำที่ ดูบริน (DuBrin 1995) ได้รวบรวมผลงานทั้งที่ เป็นบทความ ข้อเขียนในนิตยสาร หนังสือ ตำรา และงานวิจัยกว่า 30,000ชิ้น ที่ผ่านมา พบว่า มีความหมายที่หลากหลาย ซึ่งสรุปเป็นคำสำคัญ (Key words) ได้ 3 คำ คือ
• อิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal) ที่เป็นผลมาจากการสื่อสารโดยตรงสู่เป้าหมายและการบรรลุผลที่จะได้มา
• อำนาจชักจูง (Influence) ที่สูงขึ้นและอยู่เหนือความคล้อยตามไปตามกลไก โดยมีทิศทางและระเบียบการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นต้องทำหรือตอบสนองในทิศทาง ร่วมกัน ศิลปะของอำนาจในการชักจูงบุคคลโดยการชักชวนให้เชื่อหรือเป็น ตัวอย่าง ให้ดำเนินตามแนวทางของการกระทำ
• เป้าหมาย (Goal) เป็นแรงขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นแรงจูงใจและการประสานงาน ขององค์การให้ทำงานมุ่งไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
เคลเลอร์แมน (Kellerman, 1999 cited by Lambert, 2003) กล่าวว่าภาวะผู้นำเป็นความพยายามของผู้นำที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจสั่งการหรือไม่ก็ได้เพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้ตามที่จะเข้ามาร่วมมือกันเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย เป้าหมายนี้จะต้องมีนัยสำคัญไม่ใช่แค่การทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเท่านั้น
แลมเบอร์ต (Lambert, 2003) กล่าวว่าความหมายของ ภาวะผู้นำมีนัยอยู่3 ประการ คือ
1) ผู้นำต้องทำอะไร
2) เพื่อให้เกิดกิจกรรมใด หรือทำกิจกรรมกับใคร
3) เพื่อนำกิจกรรมนั้นไปไปสู่เป้าหมายอะไร
จากตัวอย่างคำจำกัดความของคำว่า ผู้นำ และ ภาวะผู้นำ ที่ยกมาส่วนหนึ่งข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ผู้นำ หมายถึง บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ส่วน ภาวะผู้นำ เป็นเรื่องของความสามารถ ทักษะและกระบวนการที่ผู้นำใช้ในการนำกลุ่มให้ไปสู่จุดมุ่งหมาย

4.2 ความแตกต่างระหว่างภาวะผู้นำกับการบริหาร
ภาวะผู้นำ กับการบริหาร มีความแตกต่างกันในด้านกระบวนการอยู่ภายใต้บริบทเดียวกัน คือ การทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย ดังคำกล่าวของ โควี ที่กล่าวว่า การบริหาร คือ ประสิทธิภาพที่จะไต่บันไดของความสำเร็จ ภาวะผู้นำจะพิจารณาว่าบันไดนั้นได้วางพาดอยู่กับกำแพงที่ถูกต้อง
“Management is efficiency in climbing the ladder of success; leadership determines whether the ladder is leaning against the right wall.” Stephen R. Covey in Leadership Definitions. A Regional Centre of Excellence. http://www.leadership- studies.com/lsw/definitions.htm (9 April 2006.)

ในการอธิบายความแตกต่างนั้น คำว่า การบริหารภายในองค์การมีคำที่ใช้เรียกทางภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ คำว่า การจัดการ (Management) และคำว่า การบริหาร (Administration) การบริหารในเชิงธุรกิจ มักใช้คำว่า การจัดการ ซึ่งมีความหมายถึง กระบวนการทำงานโดยอาศัยคน กลุ่ม และทรัพยากรต่างๆภายในองค์การเป็นเครื่องมือเพื่อให้เป้าหมายขององค์การดำเนินไปสู่ความสำเร็จ (Hersey and Blanchard, 1988) มากกว่า คำว่า การบริหาร ในปัจจุบันมีการใช้ในความหมายเดียวกัน รวมเรียกว่า การบริหารจัดการ แต่ถ้าพิจารณาจากความหมายของคำทั้งสองแล้วจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ
Administration เป็นการบริหาร การปกครองในระบบงานอำนวยการสนับสนุน ส่งเสริมและบำรุง มักเป็นงานในองค์การในระบบราชการ ซึ่งมีการบริหารที่เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย มีการดำเนินการที่แน่นอนและชัดเจน ต้องมีอนุมัติเป็นลำดับขั้น
ส่วน Management นั้น เป็นการบริหารงานในลักษณะของการจัดการให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัวและทันต่อเหตุการณ์ มีการบริหารทรัพยากรทั้งที่เป็นคนและวัตถุให้สามารถเลื่อนไหลเพื่อการใช้งานที่ได้ประโยชน์สูงสุด ปรับตัวได้ตามสถานการณ์ และเน้นผลลัพธ์ที่เป็นกำไรทั้งในด้านคนและทรัพยากรเป็นสำคัญ
ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การบริหารงานจึงต้องมุ่งสู่ผลลัพธ์นิยมเพื่อให้ก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัตร์ จึงต้องพึ่งพาการบริหารจัดการที่ทำให้เกิดความคล่องตัวและได้ประสิทธิภาพของผลงานสูงสุดเป็นหลัก ดังนั้นการนำเสนอต่อไปนี้จึงใช้คำว่า การบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความผสมผสานในหลักของการบริหารจัดการแบบใหม่
แต่สำหรับการให้ความหมายของคำว่า การบริหาร กับ ภาวะผู้นำ ยังมีผู้ที่มีความเข้าใจว่าสามารถใช้ในความหมายที่เหมือนกันได้ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วเป็นคำที่มีความหมายแตกต่างกันในด้านพฤติกรรม ดังเช่นที่ คอตเตอร์ (Kotter, 1990) กล่าวว่า ภาวะผู้นำมีความแตกต่างจากการบริหารในหลายด้านโดยเฉพาะด้านพฤติกรรมในการนำ ภาวะผู้นำเป็นตัวหลักที่นำการขับเคลื่อนและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่นำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการบริหารเป็นเรื่องการจัดการระบบงานและกระบวนการทำงานในองค์การให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และให้มีความเป็นระเบียบในทางปฏิบัติอย่างคงเส้นคงวา ภาวะผู้นำในองค์การที่มีความซับซ้อนจะทำหน้าที่ดังนี้
1. กำหนดทิศทางด้วยการมองอนาคต คาดการณ์อนาคต พร้อมกับสร้างกลยุทธ์ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ เพื่อให้องค์การเกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด
2. วางแนวทางให้แก่บุคลากรโดยสื่อสารให้ผู้ร่วมงานทุกคนที่จำเป็นจะต้องเข้ามาร่วมมือ กันเข้าใจวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อนำองค์การไปสู่ความสำเร็จ
3. จูงใจและจุดประกายให้ผู้ร่วมงานมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่กำหนด ภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลง โดยใช้หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของมนุษย์ ค่านิยม และอารมณ์

คอตเตอร์ (Kotter, 1990, p.6) แสดงความแตกต่างระหว่างภาวะผู้นำกับการบริหารจัดการไว้ในตารางเปรียบเทียบ ดังนี้
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบความแตกต่างในบริบทของการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ
บริบท การบริหารจัดการ ภาวะผู้นำ
การสร้างระเบียบปฏิบัติ วางแผนงาน แผนงบประมาณ และสร้างรายละเอียดเป็นขั้นตอนกำหนดตารางเวลาและผลลัพธ์ จัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในการทำงาน สร้างทิศทางการทำงานกำหนดวิสัยทัศน์ ในอนาคตและสร้างกลยุทธเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์
พัฒนาเครือข่ายบุคคลเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามระเบียบปฏิบัติ จัดกลุ่มงานและวางตัวบุคคล สร้างระบบโครงสร้างเพื่อทำให้แผนงานตามที่กำหนดไว้ วางตัวบุคคลแต่ละคน กระจายงานความรับผิดชอบและอำนาจปกครองเพื่อให้งานที่วางไว้สำเร็จ สร้างรูปแบบและระบบการประเมินการปฏิบัติงาน รวบรวมบุคคล สื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกันในงานที่ต้องทำสร้างความร่วมมือ ใช้การโน้มนำให้ให้เกิดการทำงานเป็นทีม เกาะเกี่ยวกันสร้างความเข้าในวิสัยทัศน์ร่วมกัน และวางยุทธศาสตร์เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือ
การจัดการ ควบคุมและแก้ปัญหากำหนดผลลัพธ์และวางแผนงาน กำหนดรายละเอียดของงานดูแลความคลาดเคลื่อนและเตรียมการแก้ไขจัดการแก้ไขปัญหา ใช้การจูงใจและการจุดประกายให้บุคคลเกิดพลังที่จะฝ่าฟันอุปสรรคที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง เอาใจใส่ใจความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
ผลลัพธ์ จัดให้มีการกำหนดระดับของความคาดหวัง การสั่งการและกำกับความคงที่ของผลผลิตตามความคาดหวังของตลาดและลูกค้า ให้ต้องเป็นไปตามเวลาและตามงบประมาณ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่เกิดประโยชน์ เช่นสร้างผลผลิตใหม่ ที่ลูกค้าพอใจมีความสัมพันธ์กันในระดับผู้ทำงานที่จะทำให้บริษัทสามารถเข้าสู่การแข่งขัน

ดูบริน (DuBrin, 1995) กล่าวว่า การศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง ภาวะผู้นำ กับ การบริหาร ถ้าพิจารณาจากบรรทัดฐานของความคิดที่ว่า การบริหาร คือ การวางแผน การจัดระบบ การชี้นำ และการควบคุมดูแล การทำให้งานบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ประการนี้จะเป็นหน้าที่หลักของผู้บริหาร แต่ผู้บริหารที่ไม่ใช้ภาวะผู้นำก็จะเพียงแต่ทำหน้าที่เฉพาะงานบริหารจัดการด้านธุรการเท่านั้น ภาวะผู้นำที่แท้จริงจะเกี่ยวข้องกับงานของผู้บริหารในด้านการสื่อสารกับบุคคลมาก กว่า ในความเป็นจริงแล้วผู้บริหารจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำด้วย และต้องเป็นผู้นำที่มีบทบาทในด้าน การนำการเปลี่ยนแปลง การจุดประกาย การจูงใจ และอำนาจชักจูง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ คอตเตอร์ (Kotter, 1990) ที่ว่าผู้บริหารต้องรู้วิธีการนำด้วย คือ ต้องมีทั้งภาวะผู้นำเช่นเดียวกับต้องรู้งานด้านการบริหาร

ดาฟท์ (Daft, 1999) ได้แสดงความคิดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างภาวะผู้นำ กับ การบริหาร ไว้ว่า ภาวะผู้นำเป็นกิจกรรมที่ได้จากการทำงานของบุคคล ในขณะที่การบริหารเป็นกิจกรรมการวางแผนและเป็นงานด้านเอกสาร ดังนั้น ภาวะผู้นำจึงเกิดขึ้นในหมู่คนที่ทำงานร่วมกันและทำให้เกิดภาวะผู้ตาม หลักเกณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างภาวะผู้นำกับการบริหารจัดการ ได้แก่ ความเต็มใจของกลุ่มคนทำงานที่จะกระทำตามที่ผู้นำต้องการ ไม่ใช่เพราะการ ถูกบังคับให้กระทำ

เฮอร์ซี่และบลังชาร์ด (Hersey and Blanchard, 1988) กล่าวว่า การบริหารจัดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะผู้นำซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นการนำที่สามารถทำให้เป้าหมายขององค์การบรรลุผลสำเร็จได้ สิ่งที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดจนได้แก่คำว่า องค์การ (Organization) การบริหารจะเกิดขึ้นภายในองค์การเท่านั้น ส่วนภาวะผู้นำไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นภายในองค์การ แต่สามารถเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ภาวะผู้นำเกิดขึ้นขณะที่บุคคลๆ หนึ่งพยายามจะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นหรือเหนือกลุ่มโดยพิจารณาจากเหตุผลเป็นสำคัญ และการนำกลุ่มไปสู่เป้าหมายนั้นอาจเกิดจากเหตุผลของตนเองหรือเหตุผลของผู้อื่น ที่สำคัญก็คือเป้าหมายของกลุ่มไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การ
ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือภาวะผู้นำเน้นที่ ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ (Human interaction) ซึ่งได้แก่ การมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น ส่วนการบริหารเน้นที่ กระบวนการและผลที่เกิดขึ้น (Process and results) ซึ่งได้แก่ กระบวนการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สรุปว่า ภาวะผู้นำไม่มีแบบแผนตายตัวกำหนดว่าต้องทำเป็นประจำ ภาวะผู้นำเป็นพียงเครื่องมือ หรือสื่อที่จะมาช่วยกันประสานให้คนทั้งหลายอยู่รวมกัน ช่วยกันทำให้บรรลุผลตามเป้าหมาย มีการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีการนำและโน้มน้าวให้มีแรงจูงใจ ให้ร่วมมือร่วมใจและมุมานะทำงาน ทั้งยังจุดประกายให้เกิดความฮึกเหิมที่จะมุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อให้งานนั้นให้สำเร็จให้จงได้และมีความภาคภูมิใจในผลของงาน
ภาวะผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพประเมินได้จากการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้บุคคลมีการปรับตัว และพร้อมที่จะทำงานไปร่วมกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าด้วยกัน ส่วนการบริหารจะเกี่ยวข้องไปในทางการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายขององค์การตามแผน และใช้กฏระเบียบจัดการให้คงอยู่ในสภาพที่สมดุล (ประยุทธ ปยุตโต, 2540)

บรรณานุกรม

จำลอง นักฟ้อน. (2548). เส้นทางสู่นักบริหารการศึกษามืออาชีพ http://www.moe.go.th/ wijai/road%20map.htm สืบค้นเมื่อ 20 พ.ย. 2555
สุภัททา ปิณฑะแพทย์. (2549). ภาวะผู้นำของนักบริหารการศึกษามืออาชีพ http://www.supatta.haysamy.com/ leader_pro.html สืบค้นเมื่อ 19 พ.ย 2555
คารมณ์ เพียรภายลุน (2552). สรุปบทความผู้นำมืออาชีพ http://www.gotoknow.org /blogs/posts/316392 สืบค้นเมื่อ 20 พ.ย. 2555
วุทธิศักดิ์ โภชนุกูล (2554). ภาวะผู้นำทางการศึกษาในสังคมโลกาภิวัตน์ http://www.pochanukul. com/?p=6 สืบค้นเมื่อ 20 พ.ย. 2555
ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์. (2554). เมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ; คู่มือเรียนรู้ และทดลองปฏิบัติการบูรณา การแบบระบบที่มีชีวิตเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในสังคม กรุงเทพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)

2 thoughts on “ภาวะผู้นำและทฤษฎีภาวะผู้นำ

ใส่ความเห็น