
ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้ผ่านพิธีตัมมัตอัลกุรอาน ปีการศึกษา 2563 ในปีนี้ได้รับเกียรติจาก อ. มุฮัมหมัดซีเกร เริงสมุทร กอรีชื่อดังของจังหวัดกระบี่ เป็นผู้นำพิธีตัมมัตอัลกุรอาน มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษากว่า 30 คน ที่อ่านจบในปีนี้รับเกียรติบัตรจาก ดร.ชารีฟ เริงสมุทร์ ผู้จัดการโรงเรียน
พิธีตัมมัต อัลกุรอานเป็นกิจกรรมที่สังคมมุสลิมในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาคัมภีร์กุรอานซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมและเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่ผู้ที่สามารถอ่านคัมภีร์กุรอานจบทั้งเล่ม ตัมมัต เป็นภาษาอาหรับแปลว่า จบ หรือเสร็จสิ้นสมบูรณ์
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเนื่องจากศาสนบัญญัติของอิสลามกำหนดให้ผู้ปกครองมุสลิมต้องส่งให้ลูกของตนได้รับการศึกษาศาสนาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ บทบัญญัตินี้เป็นคำสั่งของนบีมุฮัมมัดซึ่งมุสลิมทั่วโลกปฏิบัติกันมานานเกือบ 1,500 ปีแล้ว ผู้ปกครองคนใดไม่ปฏิบัติหน้าที่นี้ถือว่ามีความผิดในทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ ในสังคมมุสลิมจึงมีโรงเรียนสอนศาสนาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนเคียงข้างมัสยิด สังคมมุสลิมจึงเป็นสังคมที่เรียกว่า บ.ร.ม. นั่นคือ บ้าน โรงเรียน มัสญิด

โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่จะเปิดสอนตอนเย็นหลังเด็กเลิกเรียนสามัญจนถึงเวลาพลบค่ำและเปิดสอนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์อีกครึ่งวัน
ในสมัยอดีตที่การศึกษายังไม่เจริญ สังคมมีผู้รู้ศาสนาน้อย นอกจากความรู้ศาสนาขั้นพื้นฐานที่ทำให้เด็กมุสลิมทุกคนสามารถปฏิบัติละหมาดได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกโรงเรียนสอนศาสนาจะสอนกันก็คือการอ่านคัมภีร์กุรอาน แต่เนื่องจากคัมภีร์กุรอานเป็นภาษาอาหรับที่ประกอบด้วยข้อความกว่าหกพันประโยค การที่จะอ่านคัมภีร์กุรอานได้จบทั้งเล่มต้องใช้เวลานานนับปี
แน่นอนครับ เด็กคนใดสามารถอ่านคัมภีร์กุรอานได้จบทั้งเล่มจึงถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของเด็กและเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ญาติพี่น้อง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีการเฉลิมฉลองความสำเร็จให้แก่ลูกของตัวเอง และเนื่องจากการในแต่ละปีจะมีเด็กเรียนอ่านคัมภีร์จบกันหลายคน การเฉลิมฉลอง ตัมมัต อัลกุรอาน จึงทำร่วมกันเป็นงานใหญ่ของสังคม
สำหรับเด็กผู้ชายที่เข้าเรียนอ่านคัมภีร์กุรอานตั้งแต่อายุ 7 ขวบ กว่าจะอ่านคัมภีร์กุรอานได้จบทั้งเล่มก็อายุ 10 -11 ขวบซึ่งเป็นวัยที่ผู้ปกครองจะให้ทำการทำสุนัตหรือการขริบหนังปลายอวัยวะเพศ ด้วยเหตุนี้ พิธีการเข้าสุนัตจึงถูกผนวกเข้าไปในงานตัมมัต อัลกุรอานด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่เด็ก งานดังกล่าวนี้มักจะมีขึ้นในช่วงที่เด็กปิดเทอมใหญ่ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนแล้ง

งานตัมมัต อัลกุรอานถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งทางสังคมและเป็นงานที่เชิดหน้าชูตาให้ผู้ปกครองของเด็ก ดังนั้น งานดังกล่าวจึงทำให้ญาติพี่น้องมารวมตัวกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการทำให้สังคมกลมเกลียวกัน เพียงแค่ใครคนหนึ่งบอกว่าจะทำพิธีตัมมัต อัลกุรอานและทำสุนัตลูกชาย ญาติพี่น้องก็จะออกปากให้ความช่วยเหลือทันที
พิธีตัมมัต อัลกุรอานส่วนใหญ่จะทำที่มัสญิดเพราะมีบริเวณกว้างขวาง ในวันสุกดิบ เยาวชนคนหนุ่มสาวจะได้มาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน พวกชายหนุ่มจะช่วยกันขนของที่ใช้ในงาน ส่วนหนึ่งตกแต่งสถานที่และจัดปะรำสำหรับพิธี ส่วนเยาวชนหญิงจะช่วยผู้ใหญ่ทำอาหารอยู่ในครัว อีกส่วนหนึ่งจะช่วยกันตัดกระดาษสีทำดอกไม้และธงก้านใบมะพร้าวประกอบพิธี บรรยากาศเช่นนี้เองที่ทำให้ชายหนุ่มและหญิงสาวได้รู้จักกัน
ผมจำได้ว่า เช้าวันงาน มีการตั้งขบวนแห่ที่นำโดยเด็กๆที่แต่งตัวสวยงาม ตามด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่ตีกลองร้องเพลงสร้างความครึกครึ้นสนุกสนานให้แก่งาน และท้ายขบวนเป็นผู้ใหญ่หรือญาติพี่น้องของเด็ก
เมื่อมาถึงสถานที่จัดงาน เด็กที่เข้าพิธีตัมมัตกุรอานจะเข้าไปนั่งในซุ้มหรือปะรำที่ถูกจัดเตรียมไว้อย่างสวยงาม ข้างๆซุ้มจะมีธงก้านใบมะพร้าวปักอยู่ หน้าปะรำจะมี ดอกไม้ไข่ ซึ่งเป็นดอกไม้เทียมบนปลายไม้แหลมด้านหนึ่ง ใต้ดอกไม้มีไข่ต้มที่เปลือกไข่ย้อมสีต่างๆเสียบไว้และใต้ไข่มีใบตองห่อข้าวเหนียวเป็นรูปสามเหลี่ยมอีกที่งหนึ่ง ดอกไม้ไข่นี้ถูกปักไว้บนพานและจะถูกนำไปแจกเป็นของขวัญให้แก่เด็กๆที่มาร่วมงาน

เมื่อทุกคนนั่งพร้อมแล้ว พิธีตัมมัต อัลกุรอานจะเริ่มโดยการที่ครูสอนคัมภีร์กุรอานมาอ่านนำบทสั้นๆให้เด็กอ่านตามสองหรือสามบทก่อน หลังจากนั้นจะปล่อยให้เด็กๆอ่านเองอีกประมาณสิบกว่าบทเพื่อให้ผู้ร่วมพิธีได้เห็นว่าเด็กที่เข้าพิธีสามารถอ่านคัมภีร์กุรอานได้เอง
เมื่อเด็กๆอ่านคัมภีร์กุรอานจบตามที่กำหนดไว้แล้ว อิมาม ครูและผู้อาวุโสก็จะอ่านคำสรรเสริญนบีมุฮัมมัดเป็นทำนองเสนาะและกล่าวคำวิงวอนขอพรให้แก่เด็กและผู้ร่วมงาน เสร็จพิธีแล้ว สำรับอาหารที่ถูกจัดเตรียมไว้ก็จะถูกนำมาให้แขกเหรื่อได้กินกัน และญาติพี่น้องของเด็กจะไปแสดงความยินดีแก่เด็กพร้อมกับมีเงินเล็กๆน้อยๆมอบให้เป็นของขวัญ
งาน ตัมมัต อัลกุรอาน สร้างความสุข ความสนุกสนานให้แก่ทุกคนที่มาร่วมงาน แต่ทุกวันนี้ งานดังกล่าวได้จางหายไปจากสังคมมุสลิมไทยด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น สภาวะทางเศรษฐกิจที่ราคาข้าวของแพงขึ้นจนผู้ปกครองหลายคนไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดงานได้ ประกอบกับกิจกรรมดังกล่าวนี้มิได้เป็นข้อบังคับทางศาสนาและไม่เป็นบาปแต่ประการใดถ้าไม่จัด ดังนั้น พิธีตัมมัต อัลกุรอานอันสวยงามและมีความหมายจึงค่อยๆเลือนหายไปกับกาลเวลา
บทความโดย : อ. บรรจง บินกาซัน





ภาพกิจกรรมเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.facebook.com/122152121167345/posts/3941513852564467/?d=n